เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

[72] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีล
ให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ 5 ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต ฯลฯ
มีมุทิตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง
4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง
50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง 100,000 ชาติบ้าง ตลอด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :50 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

สังวัฏฏกัป1เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป2เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ยังไม่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงกระพี้เท่านั้น”

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

[73] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาว
นานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะ
เวลาที่โลกเสื่อม มี 3 อย่าง คือ (1) อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะ
น้ำท่วมนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (2) เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้
นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (3) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลาย
นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ
(องฺ.จตุกฺก.อ. 2/156/384, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/156-158/421, วิสุทฺธิ. 2/406/55)
2 วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญหรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดจน
ถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/156-158/421, วิสุทฺธิ. 2/406/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :51 }