เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้วย่อม
เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราประกาศ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก จักก่อผลอะไรได้เล่า โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า
‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’
[6] สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคาม1ด้วยเหตุผลหลายอย่างว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค2’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 วัชชีคาม หมายถึงกรุงเวสาลีซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าวัชชี (ที.ปา.อ. 6/3)
2 พุทธคุณทั้ง 9 บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
1. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสาระ คือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
2. ชื่อว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
3. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ได้แก่ วิชชา 3 และวิชชา 8 ดังนี้ วิชชา 3 คือ
(1) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้ (2) จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติ(ตาย) และ
อุบัติ(เกิด) ของสัตว์ (3) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา 8 คือ (1) วิปัสสนาญาณ
ญาณที่เป็นตัววิปัสสนา (2) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (3) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (4) ทิพพโสต
หูทิพย์ (5) เจโตปริยญาณ ปรีชากำหนดรู้จิตผู้อื่นได้ (6) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึก
ชาติได้ (7) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณ (8) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้น
อาสวะ จรณะ 15 คือ (1) สีลสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งศีล (2) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์
(3) โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค (4) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียร
เป็นเครื่องตื่น (5) มีศรัทธา (6) มีหิริ (7) มีโอตตัปปะ (8) เป็นพหูสูต (9) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
(10) มีสติมั่นคง (11) มีปัญญา (12) ปฐมฌาน (13) ทุติยฌาน (14) ตติยฌาน (15) จตุตถฌาน
4. ชื่อว่าเสด็จไปดี เพราะทรงดำเนินรุดหน้าไปไม่หวนกลับคืนมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว และยังมี
อรรถว่า ตรัสไว้ดี เพราะทรงกล่าวคำที่ควรในฐานะที่ควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :5 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล1 ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล
สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง
ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล 4 คู่ 8 บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การ
ทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
5. ชื่อว่ารู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก
(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
6. ชื่อว่าสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่าง ๆ
7. ชื่อว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย
ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ผู้ปฏิบัติตามแล้วสำเร็จมรรคผลในโลกนี้บ้าง จุติไปเกิดในสวรรค์
กลับมาฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลบ้าง ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดาร คือความเกิด
8. ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
9. ชื่อว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเพราะ(1)ทรงมีโชค(2)ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส(3)ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม 6 ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (4) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (5) ทรงเสพอริยธรรม (6) ทรงคลายตัณหา
ในภพทั้ง 3 (7) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (8) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (9) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย 4
เป็นต้น (วิ.อ. 1/1/103-118)
อนึ่ง พระพุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น 10 ประการ โดยแยกข้อ 6 เป็น 2 ประการ คือ (1) เป็นผู้
ยอดเยี่ยม (2) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. 1/265, วิ.อ. 1/112-113)
1 ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลาทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. 2/54/158)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :6 }