เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 10 ประการ

ภิกษุเป็นผู้ละองค์ 5 ได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละกามฉันทะ(ความพอใจในกาม) ได้ เป็นผู้
ละพยาบาท (ความคิดร้าย) ได้ เป็นผู้ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) ได้ เป็นผู้
ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ได้ เป็นผู้ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ 5 ได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยใจที่รักษาด้วยสติ ภิกษุเป็น
ผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีอปัสเสนธรรม 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้น
อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง1 พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้
มีอปัสเสนธรรม 4 ประการ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะ2อันบรรเทาได้ เป็นอย่างไร
คือ ปัจเจกสัจจะเป็นอันมากของสมณพราหมณ์จำนวนมากที่มีอยู่ทั้งหมด ภิกษุ
ในพระธรรมวินัยนี้บรรเทาได้ กำจัดได้ สละได้ คลายได้ ปล่อยวางได้ ละได้ สละคืนได้
ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะ อันบรรเทาได้ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 348 หน้า 364 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 348 หน้า 363 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :433 }