เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[60] 7. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ ถึงกับแบ่งโภชนะ 2 ส่วนว่า
‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ เขาก็อยากทิ้ง
สิ่งนั้น ส่วนสิ่งใดที่เขาชอบ เขาก็พัวพัน ยินดี หลงใหล ยึดติด
สิ่งนั้น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
8. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากใน
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหา-
อำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์
จักสักการะเรา’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
[61] 9. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน ผู้นี้
เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืชเกิด
จากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด และ
พืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า
คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็น
อุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
10. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับ
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในตระกูลทั้งหลาย เขาดำริ
อย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ที่เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลาย
อย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ ไม่มี
ใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะ ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุ
เศร้าหมอง’ เขาทำความริษยา1และความตระหนี่2ให้เกิดขึ้นในตระกูล
ทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
1 ความริษยา ในที่นี้หมายถึงการทำลายสักการะ เป็นต้น ของคนอื่น (ที.ปา.อ. 61/22)
2 ความตระหนี่ ในที่นี้หมายถึงความไม่พอใจที่เห็นเขาทำสักการะ เป็นต้น แก่คนอื่น (ที.ปา.อ. 61/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :42 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[62] 11. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
12. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า ‘การ
กระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา’
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
13. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ใช้ประโยชน์จากความผิด1บางอย่างที่ปกปิดไว้
เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควร
ว่า ‘ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ไม่ควร’ เขาพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
14. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดง
ธรรมอยู่ ย่อมไม่คล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่
นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้มีตบะ
[63] 15. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ นี้แลเป็นอุปกิเลสของ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
16. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ
17. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ
18. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้โอ้อวด มีมายา ฯลฯ
19. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด ฯลฯ
20. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ
21. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิก-
ทิฏฐิ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ความผิด ในที่นี้หมายถึงความผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ (ที.ปา.ฏีกา 62/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :43 }