เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 7 ประการ

7. มีสัตว์ทั้งหลายล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า “ไม่มีอะไร” นี้
เป็นวิญญาณฐิติที่ 7
นี้ คือธรรม 7 ประการที่ควรกำหนดรู้
(ฆ) ธรรม 7 ประการที่ควรละ คืออะไร
คือ อนุสัย1 7 ได้แก่

1. กามราคานุสัย (อนุสัยคือความกำหนัดในกาม)
2. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือความยินร้าย)
3. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือความเห็นผิด)
4. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือความลังเลสงสัย)
5. มานานุสัย (อนุสัยคือความถือตัว)
6. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือความติดใจในภพ)
7. อวิชชานุสัย (อนุสัยคือความไม่รู้แจ้ง)

นี้ คือธรรม 7 ประการที่ควรละ
(ง) ธรรม 7 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม คืออะไร
คือ อสัทธรรม2 7 ได้แก่
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
2. เป็นผู้ไม่มีหิริ
3. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
4. เป็นผู้มีสุตะน้อย
5. เป็นผู้เกียจคร้าน
6. เป็นผู้มีสติหลงลืม
7. เป็นผู้มีปัญญาทราม
นี้ คือธรรม 7 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 332 หน้า 337 ในเล่มนี้, องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/11/17
2 ดูเทียบข้อ 330 หน้า 332 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :399 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 7 ประการ

(จ) ธรรม 7 ประการที่เป็นไปในฝ่ายคุณวิเศษ คืออะไร
คือ สัทธรรม1 7 ได้แก่
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา
2. เป็นผู้มีหิริ
3. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
4. เป็นพหูสูต
5. เป็นผู้ปรารภความเพียร
6. เป็นผู้มีสติมั่นคง
7. เป็นผู้มีปัญญา
นี้ คือธรรม 7 ประการที่เป็นไปในฝ่ายคุณวิเศษ
(ฉ) ธรรม 7 ประการที่แทงตลอดได้ยาก คืออะไร
คือ สัปปุริสธรรม2 7 ได้แก่
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

1. เป็นธัมมัญญู (ผู้รู้จักเหตุ)
2. เป็นอัตถัญญู (ผู้รู้จักผล)
3. เป็นอัตตัญญู (ผู้รู้จักตน)
4. เป็นมัตตัญญู (ผู้รู้จักประมาณ)
5. เป็นกาลัญญู (ผู้รู้จักเวลา)
6. เป็นปริสัญญู (ผู้รู้จักชุมชน)
7. เป็นปุคคลัญญู (ผู้รู้จักบุคคล)

นี้ คือธรรม 7 ประการที่แทงตลอดได้ยาก

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 330 หน้า 332-333 ในเล่มนี้
2 ดูเทียบข้อ 330 หน้า 333 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :400 }