เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญ
ให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง
ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ
ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก
ไม่รับอาหารของคน 2 คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับ
อาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับ
อาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวัน
ไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง
รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน 2 หลัง ยังชีพ
ด้วยข้าว 2 คำ ฯลฯ1 รับอาหารในเรือน 7 หลัง ยังชีพด้วยข้าว 7 คำ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย 1 ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย 2 ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย 7 ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน 1 วัน กินอาหารที่เก็บไว้
ค้างคืน 2 วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน 7 วัน ถือการบริโภคอาหาร 15 วัน
ต่อมื้อ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินโคมัยเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน
นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ
นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง2 นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้
กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า
เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว ไม่ยอมนั่ง
เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง (เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) ถือการนอนบนหนาม

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.จตุกฺก. 21/198/230 ประกอบ
2 ผ้าคากรอง หมายถึงผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. 2/94/297)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :39 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

นอนบนที่นอนอันทำด้วยหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอนตะแคง
ข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูลาดไว้ บริโภคคูถ คือ
ถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ 3 ครั้ง คือ
ถือการลงอาบน้ำ
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริบูรณ์แน่นอน มิใช่ไม่บริบูรณ์”
“นิโครธ เรากล่าวว่าการกีดกันบาปด้วยตบะแม้ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลส
อยู่เป็นอันมาก”

ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[58] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าการ
กีดกันบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลสอยู่อีกเป็นอันมาก”
“นิโครธ
1. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจยินดี มีความดำริ
อันบริบูรณ์ด้วยตบะ1นั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจน
เป็นเหตุให้เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
2. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น
ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขายกตนข่มผู้อื่น
ด้วยตบะนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
1 มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะ ในที่นี้หมายถึงพอใจในการบำเพ็ญแต่ตบะเท่านั้น (ที.ปา.อ. 58/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :40 }