เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 6 ประการ

4. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก1ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มา
โดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต (อาหารในบาตร) บริโภค
รวมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม
ฯลฯ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน
เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
5. มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ แม้นี้ก็เป็น
สารณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อ
ความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
6. มีอริยทิฏฐิ2 อันเป็นธรรมเครื่องนำออก3เพื่อความสิ้นทุกข์
โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรมที่ทำให้เป็น
ที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อ
ความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอัน
เดียวกัน
นี้ คือธรรม 6 ประการที่มีอุปการะมาก
(ข) ธรรม 6 ประการที่ควรเจริญ คืออะไร
คือ อนุสสติฏฐาน4 6 ได้แก่
1. พุทธานุสสติ (การระลึกถึงพระพุทธเจ้า)
2. ธัมมานุสสติ (การระลึกถึงพระธรรม)
3. สังฆานุสสติ (การระลึกถึงพระสงฆ์)

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 324 หน้า 321 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 324 หน้า 322 ในเล่มนี้
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 324 หน้า 322 ในเล่มนี้
4 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 327 หน้า 328 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :388 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 6 ประการ

4. สีลานุสสติ (การระลึกถึงศีล)
5. จาคานุสสติ (การระลึกถึงการบริจาค)
6. เทวตานุสสติ (การระลึกถึงเทวดา)
นี้ คือธรรม 6 ประการที่ควรเจริญ
(ค) ธรรม 6 ประการที่ควรกำหนดรู้ คืออะไร
คือ อายตนะภายใน1 6 ได้แก่

1. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
2. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
3. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)
4. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
5. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
6. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)

นี้ คือธรรม 6 ประการที่ควรกำหนดรู้
(ฆ) ธรรม 6 ประการที่ควรละ คืออะไร
คือ หมวดตัณหา2 6 ได้แก่

1. รูปตัณหา (ความอยากได้รูป)
2. สัททตัณหา (ความอยากได้เสียง)
3. คันธตัณหา (ความอยากได้กลิ่น)
4. รสตัณหา (ความอยากได้รส)
5. โผฏฐัพพตัณหา (ความอยากได้โผฏฐัพพะ)
6. ธัมมตัณหา (ความอยากได้ธรรมารมณ์)

นี้ คือธรรม 6 ประการที่ควรละ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 323 หน้า 315 ในเล่มนี้, สํ.นิ. (แปล) 16/2/6
2 ดูเทียบข้อ 323 หน้า 318 ในเล่มนี้, อภิ.วิ. (แปล) 35/944/600

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :389 }