เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 4 ประการ

3. ปริยญาณ (ความรู้ในการกำหนดจิตของผู้อื่น)
4. สัมมติญาณ (ความรู้ในสมมติ)

นี้ คือธรรม 4 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น
(ฌ) ธรรม 4 ประการที่ควรรู้ยิ่ง คืออะไร
คือ อริยสัจ 4 ได้แก่

1. ทุกขอริยสัจ (อริยสัจคือทุกข์)
2. ทุกขสมุทยอริยสัจ (อริยสัจคือเหตุเกิดแห่งทุกข์)
3. ทุกขนิโรธอริยสัจ (อริยสัจคือความดับแห่งทุกข์)
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (อริยสัจคือข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งทุกข์)

นี้ คือธรรม 4 ประการที่ควรรู้ยิ่ง
(ญ) ธรรม 4 ประการที่ควรทำให้แจ้ง คืออะไร
คือ สามัญญผล1 (ผลแห่งความเป็นสมณะ) 4 ได้แก่
1. โสดาปัตติผล
2. สกทาคามิผล
3. อนาคามิผล
4. อรหัตตผล
นี้ คือธรรม 4 ประการที่ควรทำให้แจ้ง
ธรรม 40 ประการนี้ เป็นของจริง เป็นของแท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็น
อย่างอื่น ที่พระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 311 หน้า 285 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :378 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 5 ประการ

ธรรม 5 ประการ

[355] ธรรม 5 ประการที่มีอุปการะมาก___ธรรม 5 ประการที่ควรเจริญ
ธรรม 5 ประการที่ควรกำหนดรู้___ธรรม 5 ประการที่ควรละ
ธรรม 5 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม___ธรรม 5 ประการที่เป็นไปในฝ่าย
คุณวิเศษ
ธรรม 5 ประการที่แทงตลอดได้ยาก___ธรรม 5 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น
ธรรม 5 ประการที่ควรรู้ยิ่ง___ธรรม 5 ประการที่ควรทำให้แจ้ง

(ก) ธรรม 5 ประการที่มีอุปการะมาก คืออะไร
คือ องค์ของผู้บำเพ็ญความเพียร1 5 ได้แก่
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและ
จรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. เป็นผู้มีอาพาธน้อย โรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับ
ย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะ
แก่การบำเพ็ญเพียร
3. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง
ในพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
4. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 317 หน้า 306 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :379 }