เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 1 ประการ

(ค) ธรรม 1 ประการที่ควรกำหนดรู้ คืออะไร
คือ ผัสสะที่ยังมีอาสวะ มีอุปาทาน
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรกำหนดรู้
(ฆ) ธรรม 1 ประการที่ควรละ คืออะไร
คือ อัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา)
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรละ
(ง) ธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม คืออะไร
คือ อโยนิโสมนสิการ1
นี้ คือธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม
(จ) ธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่ายคุณวิเศษ คืออะไร
คือ โยนิโสมนสิการ2
นี้ คือธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่ายคุณวิเศษ
(ฉ) ธรรม 1 ประการที่แทงตลอดได้ยาก คืออะไร
คือ เจโตสมาธิ อันมีลำดับติดต่อกันไป
นี้ คือธรรม 1 ประการที่แทงตลอดได้ยาก
(ช) ธรรม 1 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น คืออะไร
คือ ญาณอันไม่กำเริบ
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น
(ฌ) ธรรม 1 ประการที่ควรรู้ยิ่ง คืออะไร
คือ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรรู้ยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) 20/15/3
2 ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) 20/20/4

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 2 ประการ

(ญ) ธรรม 1 ประการที่ควรทำให้แจ้ง คืออะไร
คือ เจโตวิมุตติ อันไม่กำเริบ
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรทำให้แจ้ง
ธรรม 10 ประการนี้ เป็นของจริง เป็นของแท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็น
อย่างอื่น ที่พระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้

ธรรม 2 ประการ

[352] ธรรม 2 ประการที่มีอุปการะมาก___ธรรม 2 ประการที่ควรเจริญ
ธรรม 2 ประการที่ควรกำหนดรู้___ธรรม 2 ประการที่ควรละ
ธรรม 2 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม___ธรรม 2 ประการที่เป็นไปในฝ่าย
คุณวิเศษ
ธรรม 2 ประการที่แทงตลอดได้ยาก___ธรรม 2 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น
ธรรม 2 ประการที่ควรรู้ยิ่ง___ธรรม 2 ประการที่ควรทำให้แจ้ง

(ก) ธรรม 2 ประการที่มีอุปการะมาก คืออะไร
คือ
1. สติ (ความระลึกได้)
2. สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)1
นี้ คือธรรม 2 ประการที่มีอุปการะมาก
(ข) ธรรม 2 ประการที่ควรเจริญ คืออะไร
คือ
1. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
2. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)2
นี้ คือธรรม 2 ประการที่ควรเจริญ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 304 หน้า 255 ในเล่มนี้, องฺ.ทุก. (แปล) 20/180/129
2 ดูเทียบข้อ 304 หน้า 256 ในเล่มนี้, องฺ.ทุก. (แปล) 20/173/127

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :369 }