เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 10

4. สัมมากัมมันตะที่เป็นอเสขะ
5. สัมมาอาชีวะที่เป็นอเสขะ
6. สัมมาวายามะที่เป็นอเสขะ
7. สัมมาสติที่เป็นอเสขะ
8. สัมมาสมาธิที่เป็นอเสขะ
9. สัมมาญาณะ1ที่เป็นอเสขะ
10. สัมมาวิมุตติที่เป็นอเสขะ
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ 10 ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่
คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย”

สังคีติหมวด 10 จบ

[349] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกับท่านพระสารีบุตร
ดังนี้ว่า “ดีละ ดีละ ดีแท้ สารีบุตร ที่เธอกล่าวสังคีติปริยาย(แนวทางแห่งการ
สังคายนา)แก่ภิกษุทั้งหลาย” ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวสังคีติปริยายนี้แล้ว
พระศาสดาทรงพอพระทัย และภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของท่าน
พระสารีบุตรแล้วแล

สังคีติสูตรที่ 10 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [11. ทสุตตรสูตร] ธรรม 1 ประการ

11. ทสุตตรสูตร
ว่าด้วยธรรม 1 ถึง 10 ประการ

[350] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป
ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา เขตกรุงจัมปา ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร
เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า
“เราจักกล่าวทสุตตรสูตร
อันเป็นธรรมเครื่องปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
เพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์”

ธรรม 1 ประการ

[351] ธรรม 1 ประการที่มีอุปการะมาก___ธรรม 1 ประการที่ควรเจริญ
ธรรม 1 ประการที่ควรกำหนดรู้___ธรรม 1 ประการที่ควรละ
ธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่ายเสื่อม___ธรรม 1 ประการที่เป็นไปในฝ่าย
คุณวิเศษ
ธรรม 1 ประการที่แทงตลอดได้ยาก___ธรรม 1 ประการที่ควรให้เกิดขึ้น
ธรรม 1 ประการที่ควรรู้ยิ่ง___ธรรม 1 ประการที่ควรทำให้แจ้ง

(ก) ธรรม 1 ประการที่มีอุปการะมาก คืออะไร
คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
นี้ คือธรรม 1 ประการที่มีอุปการะมาก
(ข) ธรรม 1 ประการที่ควรเจริญ คืออะไร
คือ กายคตาสติ1 สหรคตด้วยความสำราญ
นี้ คือธรรม 1 ประการที่ควรเจริญ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) 20/563/51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :367 }