เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

[51] นิโครธปริพาชกเห็นสันธานคหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นสาวก
ของพระสมณโคดมกำลังมา อนึ่ง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาสาวก
ของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว เท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ ก็ท่าน
เหล่านี้ชอบเสียงเบา ได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา
บางทีเมื่อเขาทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาอาจจะเข้ามาก็ได้” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ
[52] ครั้งนั้น สันธานคหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับ
นิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฝ่ายอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้มา
พบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อมแต่ฝ่ายพระผู้มี
พระภาคนั้น ทรงใช้เสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ1 และป่าทึบ2 อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์3 ควรแก่การหลีกเร้น”
[53] เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกล่าวกับสันธาน
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะ
สนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณ-
โคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่
จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับ
เรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์

เชิงอรรถ :
1 ป่าละเมาะ หมายถึงป่าที่มีคนอาศัยทำมาหากิน สัญจรไปมา (ที.ปา.ฏีกา 52/17)
2 ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอาศัยทำมาหากิน มีลักษณะ 5 อย่าง คือ (1) อยู่ห่างไกล (2) อยู่กลางดง
(3) น่ากลัว (4) น่าสยอง (5) ตั้งอยู่ชายแดน (ที.ปา.ฏีกา 52/17)
3 เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงป่าที่มีสภาพเงียบสงัดจากผู้คน (ที.ปา.ฏีกา 52/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :36 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

ประทับอยู่เฉพาะภายในที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด
พวกเราจะผูกพระสมณโคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า
ฉะนั้น”
[54] พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำสนทนาระหว่างสันธานคหบดีกับนิโครธ-
ปริพาชกนี้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ลงจากภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่นั้น นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียง
อื้ออึง พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่ง
สระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา
ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาอาจจะเสด็จ
เข้ามาก็ได้ ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงทูลถาม
ปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์1 อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง2” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ

ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

[55] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธ
ปริพาชกจึงทูลเชิญดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้เถิด” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธ-
อาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนนิโครธปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

เชิงอรรถ :
1 อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรคหรืออริยมรรค (ที.ปา.อ. 54/19-20, ที.ปา.ฏีกา 54/19)
2 เป็นที่พึ่งชั้นสูง หมายถึงเป็นที่อาศัยชั้นสูงสุด ประเสริฐที่สุด (ที.ปา.อ. 54/19, ที.ปา.ฏีกา 54/19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :37 }