เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 10

ธรรมหมวดละ 10 ประการ คืออะไร
คือ

1
นาถกรณธรรม1(ธรรมเครื่องกระทำที่พึ่ง) 10
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
(มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป) มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการ
สังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นนาถ-
กรณธรรม
2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ
ถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ2 แม้การที่
ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
3. เป็นผู้มีมิตรดี3 มีสหายดี4 มีเพื่อนดี5 แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มี
สหายดี มีเพื่อนดี นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
4. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) 24/17/31-33
2 แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิหมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (ที.ปา.อ. 345/246, องฺ.จตุกฺก.อ.
2/22/300)
3 มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรม คือ ศีล เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
4 สหายดี หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี (องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
5 เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนม รู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (ที.ปา.อ. 345/246, องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :359 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 10

ธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้
ก็เป็นนาถกรณธรรม
5. เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและ
งานต่ำ1ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้
สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะ
ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ฯลฯ
สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
6. เป็นผู้ใคร่ธรรม2 เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีความ
ปราโมทย์อย่างยิ่งในพระอภิธรรม3 ในพระอภิวินัย4 แม้การที่ภิกษุเป็น
ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีความปราโมทย์
อย่างยิ่งในพระอภิธรรม ในพระอภิวินัย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
7. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ นี้ก็เป็นนาถ-
กรณธรรม
8. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความ
เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรม เกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม

เชิงอรรถ :
1 งานสูง หมายถึงงานย้อมจีวร หรืองานโบกทาพระเจดีย์ ตลอดถึงงานที่จะต้องช่วยกันทำที่โรงอุโบสถ
เรือนพระเจดีย์ เรือนต้นโพธิ์ เป็นต้น งานต่ำ หมายถึงงานเล็กน้อย มีล้างเท้า และนวดเท้า เป็นต้น
(ที.ปา.อ. 345/246, องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
2 ผู้ใคร่ธรรม ในที่นี้หมายถึงรักพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก (ที.ปา.อ. 345/247, องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
3 พระอภิธรรม หมายถึงสัตตัปปกรณธรรม คือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มรรค 4 และ
ผล 4 (ที.ปา.อ. 345/247, องฺ.ทสก.อ. 3/17/323)
4 พระอภิวินัย หมายถึงขันธกบริวาร หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องระงับกิเลส (ที.ปา.อ.
345/247, องฺ.ทสก.อ. 3/17/323)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :360 }