เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 10

6
[344] อนุปุพพนิโรธ1 (ความดับไปตามลำดับ) 9
1. กามสัญญาของผู้เข้าปฐมฌานดับไป
2. วิตก วิจารของผู้เข้าทุติยฌานดับไป
3. ปีติของผู้เข้าตติยฌานดับไป
4. ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของผู้เข้าจตุตถฌานดับไป
5. รูปสัญญาของผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌานดับไป
6. อากาสานัญจายตนสัญญาของผู้เข้าวิญญาณัญจายตนฌานดับไป
7. วิญญาณัญจายตนสัญญาของผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌานดับไป
8. อากิญจัญญายตนสัญญาของผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานดับไป
9. สัญญาและเวทนาของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ2ดับไป
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ 9 ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด 9 จบ

สังคีติหมวด 10

[345] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ 10 ประการ ที่พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้โดย
ชอบแล้วมีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) 23/31/493
2 สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายถึงสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนามี 2 คือ อสัญญาสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ
ที่เป็นอสัญญาสมาบัติมีแก่ปุถุชน ที่เป็นนิโรธสมาบัติ มีเฉพาะแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์ผู้ชำนาญใน
สมาบัติ 8 แล้วเท่านั้น จึงจะเข้าได้ (อภิ.ปญฺจ.อ. 735/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :358 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 10

ธรรมหมวดละ 10 ประการ คืออะไร
คือ

1
นาถกรณธรรม1(ธรรมเครื่องกระทำที่พึ่ง) 10
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
(มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป) มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการ
สังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นนาถ-
กรณธรรม
2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ
ถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ2 แม้การที่
ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
3. เป็นผู้มีมิตรดี3 มีสหายดี4 มีเพื่อนดี5 แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มี
สหายดี มีเพื่อนดี นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
4. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) 24/17/31-33
2 แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิหมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (ที.ปา.อ. 345/246, องฺ.จตุกฺก.อ.
2/22/300)
3 มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรม คือ ศีล เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
4 สหายดี หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี (องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
5 เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนม รู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (ที.ปา.อ. 345/246, องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :359 }