เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

2. อุทุมพริกสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาทที่อุทุมพริการาม
เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

[49] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ก็สมัยนั้น ปริพาชกชื่อนิโครธอาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา
พร้อมกับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ 3,000 คน ครั้งนั้น คหบดีชื่อสันธาน
ออกจากกรุงราชคฤห์เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน1 ขณะนั้น คหบดีชื่อสันธาน
มีความคิดดังนี้ว่า “ยังมิใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาค
ประทับหลีกเร้นอยู่2 ยังมิใช่สมัยที่จะเข้าไปพบเหล่าภิกษุผู้เป็นที่เจริญใจ3 เหล่าภิกษุ
ผู้เป็นที่เจริญใจยังพักอยู่หลีกเร้น ทางที่ดี เราควรเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชกา-
รามของพระนางอุทุมพริกา” จากนั้นจึงเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชการามของ
พระนางอุทุมพริกา
[50] เวลานั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ผู้กำลัง
สนทนากันด้วยเสียงดังอื้ออึงถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า
เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่อง
นิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท4 เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่อง
ตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่อง
ความเจริญและความเสื่อม

เชิงอรรถ :
1 แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเพิ่งจะเลยเที่ยง เพิ่งจะบ่าย (ที.ปา.อ. 49/17)
2 ประทับหลีกเร้นอยู่ หมายถึงเข้าฌานอยู่ (ที.ปา.อ. 49/17)
3 เป็นที่เจริญใจ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำจิตของคนที่ไปหาให้เจริญขึ้นและให้ปราศจากนิวรณ์ 5 ประการ คือ
(1) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (2) พยาบาท (ความคิดร้าย) (3) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
(4) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (5) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ที.ปา.อ. 49/17)
4 ชนบท ในที่นี้หมายถึงเขตปกครองที่ประกอบด้วยเมือง(นคร)หลายเมือง ตรงกับคำว่า แคว้นหรือรัฐใน
ปัจจุบัน ตามนัย (ที.สี.อ. 17/85)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

[51] นิโครธปริพาชกเห็นสันธานคหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นสาวก
ของพระสมณโคดมกำลังมา อนึ่ง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาสาวก
ของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว เท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ ก็ท่าน
เหล่านี้ชอบเสียงเบา ได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา
บางทีเมื่อเขาทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาอาจจะเข้ามาก็ได้” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ
[52] ครั้งนั้น สันธานคหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับ
นิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฝ่ายอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้มา
พบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อมแต่ฝ่ายพระผู้มี
พระภาคนั้น ทรงใช้เสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ1 และป่าทึบ2 อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์3 ควรแก่การหลีกเร้น”
[53] เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกล่าวกับสันธาน
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะ
สนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณ-
โคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่
จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับ
เรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์

เชิงอรรถ :
1 ป่าละเมาะ หมายถึงป่าที่มีคนอาศัยทำมาหากิน สัญจรไปมา (ที.ปา.ฏีกา 52/17)
2 ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอาศัยทำมาหากิน มีลักษณะ 5 อย่าง คือ (1) อยู่ห่างไกล (2) อยู่กลางดง
(3) น่ากลัว (4) น่าสยอง (5) ตั้งอยู่ชายแดน (ที.ปา.ฏีกา 52/17)
3 เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงป่าที่มีสภาพเงียบสงัดจากผู้คน (ที.ปา.ฏีกา 52/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :36 }