เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 7

3. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
4. อาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษทุกข์ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่าง ๆ)
5. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
6. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
7. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)

9
พละ1 7

1. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา)
2. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
3. หิริพละ (กำลังคือหิริ)
4. โอตตัปปพละ (กำลังคือโอตตัปปะ)
5. สติพละ (กำลังคือสติ)
6. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
7. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)

10
[332] วิญญาณฐิติ2(ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) 7

1. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์ เทพบางพวก3
และวินิปาติกะบางพวก4 นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 1

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/3/4
2 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/127/72-73
3 เทพบางพวก หมายถึงเทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ 6 คือ (1) ชั้นจาตุมหาราช (2) ชั้นดาวดึงส์
(3) ชั้นยามา (4) ชั้นดุสิต (5) ชั้นนิมมานรดี (6) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. 2/127/109)
4 วินิปาติกะบางพวก หมายถึงพวกเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ 4 เช่น ยักษิณีผู้เป็นมารดาของ
อุตตระ ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมารดาของผุสสะ ร่างกายของเปรตเหล่านี้แตกต่างกัน
คือ มีทั้งอ้วน ผอม เตี้ย สูง มีผิวขาว ผิวดำ ผิวสีทอง และสีนิล มีลักษณะ มีสัญญาต่างกัน ด้วยติเหตุกะ
ทุเหตุกะ และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ เวมานิกเปรตเหล่านี้ไม่มีศักดิ์มาก เหมือนพวกเทพบางพวก
ได้รับทุกข์ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะสามารถบรรลุธรรมได้ เช่น การ
บรรลุธรรมของยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ เป็นต้น (ที.ม.อ. 127/109,44-45/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า:335 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 7

2. มีสัตว์ทั้งหลายมีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือพวกเทพ
ชั้นพรหมกายิกา1 (เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม) นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 2
3. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ พวก
เทพชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 3
4. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ พวก
เทพชั้นสุภกิณหะ (เทพผู้เต็มไปด้วยความงดงาม) นี้เป็นวิญญาณฐิติ ที่ 4
5. มีสัตว์ทั้งหลายบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน2โดยกำหนดว่า “อากาศ
หาที่สุดมิได้” เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 5
6. มีสัตว์ทั้งหลายล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน3โดยกำหนดว่า “วิญญาณหาที่สุดมิได้”
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 6
7. มีสัตว์ทั้งหลายล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน4โดยกำหนดว่า “ไม่มีอะไร” นี้เป็นวิญญาณฐิติ
ที่ 7

เชิงอรรถ :
1 เทพชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌานภูมิ (ระดับปฐมฌาน) 3 ชั้น คือ (1) พรหมปาริสัชชา
(พวกบริษัทบริวารมหาพรหม) (2) พรหมปโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (3) มหาพรหมา (พวกท้าว
มหาพรหม) (ที.ม.อ. 127/109-110)
2 อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศ คือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้น
ที่ 1 ของอรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 414/308)
3 วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 2 ของ
อรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 414/308)
4 อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร (ความว่าง) เป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียก
อีกอย่างหนึ่งว่า สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ชั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญาเวทยิต-
นิโรธบ้าง (ที.สี.อ. 414/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :336 }