เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 6

5. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เจริญอนิมิตตา-
เจโตวิมุตติ1แล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่วิญญาณของ
ข้าพเจ้าก็ยังแส่หานิมิตอยู่’ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวตักเตือนเธอว่า
‘อย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ อย่าได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุ
อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ เป็นไปไม่ได้เลย
ที่ภิกษุได้เจริญอนิมิตตาเจโตวิมุตติแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
แต่วิญญาณ ของภิกษุนั้นก็ยังแส่หานิมิตอยู่’ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะอนิมิตตาเจโตวิมุตตินี้เป็นธาตุที่สลัดนิมิตทั้งปวง
6. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าปราศจาก
อัสมิมานะ และไม่พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้’ แต่ลูกศรคือความ
เคลือบแคลงสงสัยก็ยังครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย
พึงกล่าวตักเตือนเธอว่า ‘อย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ อย่าได้
กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการ
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสอย่างนี้เลย ผู้มี
อายุ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุปราศจากอัสมิมานะแล้ว และไม่พิจารณา

เชิงอรรถ :
1 อนิมิตตาเจโตวิมุตติ หมายถึงพลววิปัสสนา(วิปัสสนาที่มีพลัง) คือ อรหัตตผลสมาบัติ ที่ชื่อว่า อนิมิต
(ไม่มีเครื่องหมาย) เพราะไม่มีราคนิมิต (นิมิตคือราคะ) ไม่มีโทสนิมิต (นิมิตคือโทสะ) ไม่มีโมหนิมิต (นิมิต
คือโมหะ) ไม่มีรูปนิมิต (นิมิตคือรูป) ไม่มีนิจจนิมิต (นิมิตคือความเที่ยง) เป็นต้น (ที.ปา.อ. 326/234,
องฺ.ฉกฺก.อ. 3/13/104)
อีกอย่างหนึ่ง อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นชื่อของญาณ 4 คือ (1) ภยตุปัฏฐานญาณ (ญาณในการเห็น
สังขารปรากฏโดยความเป็นภัย) (2) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็น
โทษ) (3) มุญจิตุกัมมยตาญาณ (ญาณหยั่งรู้อันทำให้ต้องการจะพ้น) (4) ภังคญาณ (ญาณที่พิจารณาเห็น
ความดับ) (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/13/117)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :327 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 6

เห็นว่า ‘เราเป็นนี้’ แต่ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัยก็ยัง
ครอบงำจิตของภิกษุนั้นอยู่’ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสภาวะที่
ถอนอัสมิมานะ1 นี้เป็นธาตุที่สลัดลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย

18
[327] อนุตตริยะ2 6

1. ทัสสนานุตตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
2. สวนานุตตริยะ (การฟังอันยอดเยี่ยม)
3. ลาภานุตตริยะ (การได้อันยอดเยี่ยม)
4. สิกขานุตตริยะ (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
5. ปาริจริยานุตตริยะ (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
6. อนุสสตานุตตริยะ (การระลึกอันยอดเยี่ยม)

19
อนุสสติฏฐาน3 6

1. พุทธานุสสติ (การระลึกถึงพระพุทธเจ้า)
2. ธัมมานุสสติ (การระลึกถึงพระธรรม)
3. สังฆานุสสติ (การระลึกถึงพระสงฆ์)
4. สีลานุสสติ (การระลึกถึงศีล)
5. จาคานุสสติ (การระลึกถึงการบริจาค)
6. เทวตานุสสติ (การระลึกถึงเทวดา)

เชิงอรรถ :
1 สภาวะที่ถอนอัสมิมานะ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมรรค ที่เรียกว่าสภาวะที่ถอนอัสมิมานะ เพราะเมื่อเห็นนิพพาน
ด้วยอำนาจผลที่เกิดจากอรหัตตมรรค อัสมิมานะจึงไม่มี (ที.ปา.อ. 326/235, องฺ.ฉกฺก.อ. 3/13/105)
2 ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/8/419-420
3 อนุสสติฏฐาน แปลว่า “ฐานคืออนุสสติ” หมายถึงเหตุคืออนุสสติ ได้แก่ ฌาน 3(ที.ปา.อ. 327/235,
องฺ. ฉกฺก.อ. 3/25/110,29/112)
อนุสสติ ที่เรียกว่า “ฐาน” เพราะเป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า
เช่น พุทธานุสสติ ย่อมเป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษ เพราะเมื่อบุคคลระลึกถึงพุทธคุณอยู่ ปีติ (ความอิ่มใจ)
ย่อมเกิด จากนั้น จึงพิจารณาปีติให้เห็นความสิ้นไปเสื่อมไปจนได้บรรลุอรหัตตผล
อนุสสติฏฐาน นี้จัดเป็นอุปจารกัมมัฏฐาน แม้คฤหัสถ์ก็สามารถบำเพ็ญได้ (ขุ.อป.อ.1/25/137,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/9/108) และดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/9/420-421

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :328 }