เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

สังวรปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ1 ไม่แยกถือ2 ย่อม
ปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรม คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) และโทมนัส (ความทุกข์
ใจ) ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อ
ไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า สังวรปธาน
ปหานปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่
เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า ปหานปธาน
ภาวนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความระลึกได้) ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ3 น้อมไปในโวสสัคคะ
เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเฟ้นธรรม) ... เจริญ

เชิงอรรถ :
1 รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวม โดยเห็นเป็นหญิงหรือเป็นชาย เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่น
หอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ ที่น่าปรารถนาด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. 1352/
456-457)
2 แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือ มองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไป ด้วยอำนาจกิเลส เช่นเห็นมือ เท้า ว่าสวย
หรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้าย แลขวา ว่าน่ารัก หรือไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่า
สวยน่ารัก ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยไม่น่ารัก ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ (อภิ.สงฺ.อ. 1352/456-457)
3 วิเวก (ความสงัด) วิราคะ (ความคลายกำหนัด) นิโรธ (ความดับ) ทั้ง 3 คำนี้ เป็นชื่อเรียกนิพพาน
(องฺ.จตุกฺก.อ. 2/14/292)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :284 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ... เจริญปีติสัมโพชฌงค์
(ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็น
องค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ) ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็น
องค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน
อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ตามรักษาสมาธินิมิต ที่ชัดดีซึ่งเกิดขึ้นแล้ว คือ
อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน)
ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด) วินีลกสัญญา
(กำหนดหมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่าง ๆ) วิปุพพกสัญญา (กำหนดหมาย
ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก) วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมาย
ซากศพที่ขาดจากกันเป็น 2 ท่อน) อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่า
พองขึ้นอืด) นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

11
ญาณ (ความรู้) 4

1. ธัมมญาณ (ความรู้ในธรรม)
2. อันวยญาณ (ความรู้ในการคล้อยตาม)
3. ปริยญาณ (ความรู้ในการกำหนดจิตของผู้อื่น)
4. สัมมติญาณ (ความรู้ในสมมติ)

12
ญาณ 4 อีกนัยหนึ่ง

1. ทุกขญาณ (ความรู้ในทุกข์)
2. ทุกขสมุทยญาณ (ความรู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :285 }