เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ 3 ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด 3 จบ

สังคีติหมวด 4

[306] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ 4 ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมหมวดละ 4 ประการ คืออะไร
คือ

1
สติปัฏฐาน1(ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ...
3. พิจารณาเห็นจิตในจิต ...
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/372/301, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/274/390

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :276 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

2
สัมมัปปธาน1(ความเพียรชอบ) 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
2. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำ
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
4. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความ
ดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว

3
อิทธิบาท2(คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ) 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
ฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
2. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
วิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
3. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
จิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)
4. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิด
จากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/275/390
2 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/276/391

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :277 }