เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความ
ผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราต่อว่าอยู่อย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องการประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[36] ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก1 เรารู้ชัดความเป็น
มาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น2 และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น3 เมื่อไม่
ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับ4ด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม5
[37] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึง
เข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถาม
ต่อไปว่า ‘พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้ว
จึงตอบว่า

เชิงอรรถ :
1 คำนี้แปลจากคำว่า “อคฺคญฺญํ” อรรถกถาแก้ว่า “โลกปญฺญตฺตึ” และอธิบายว่า ที่ชื่อว่าอัคคัญญะ
เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หมายถึงวิวัฒนาการการเกิดขึ้นและประวัติความเป็นไปของโลก
(โลกสฺส อคคนฺติ ชานิตพฺพํ ตํ อคฺคญฺญํ, โส ปน โลกสฺส อุปฺปตฺติกฺกโม ปวตฺติปเวณี จาติ) (ที.ปา.อ.
36/14, ที.ปา.ฏีกา 36/13)
2 รู้ชัดยิ่งกว่านั้น ในที่นี้หมายถึงรู้ชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. 36/15)
3 ไม่ยึดมั่น ในที่นี้หมายถึงไม่ยึดมั่นสิ่งที่รู้ชัดด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ที.ปา.อ. 36/15)
4 ความดับ ในที่นี้หมายถึงกิเลสนิพพาน (ความดับกิเลส) (ที.ปา.อ. 36/15)
5 ไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ประสบความทุกข์ คือ ทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุนิพพาน
(ที.ปา.อ. 36/15, ที.ปา.ฏีกา 36/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :27 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[38] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้พินาศ เมื่อ
โลกกำลังพินาศ เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็
สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้กลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า เวลานั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งผู้จุติจากพรหมโลกชั้น
อาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหมอันว่างเปล่า นึกคิดอะไร
ก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงรู้สึกเบื่อ เกิดความปรารถนา
ขึ้นว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง’ ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นจุติจาก
พรหมโลกชั้นอาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหม เป็นผู้อยู่
ร่วมกับสัตว์นั้น แม้สัตว์พวกนั้นนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็น
อาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม
สถิตอยู่นานแสนนาน
[39] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น
ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ
ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด เราบันดาลสัตว์เหล่านี้
ขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าเรามีความคิดมาก่อนว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึง
มาเป็นอย่างนี้บ้าง’ เรามีความตั้งใจอย่างนี้ และสัตว์เหล่านี้ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว’
แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระพรหมผู้เจริญนี้
เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็น
อิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :28 }