เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความ
ผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราต่อว่าอยู่อย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องการประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[36] ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก1 เรารู้ชัดความเป็น
มาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น2 และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น3 เมื่อไม่
ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับ4ด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม5
[37] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึง
เข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถาม
ต่อไปว่า ‘พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้ว
จึงตอบว่า

เชิงอรรถ :
1 คำนี้แปลจากคำว่า “อคฺคญฺญํ” อรรถกถาแก้ว่า “โลกปญฺญตฺตึ” และอธิบายว่า ที่ชื่อว่าอัคคัญญะ
เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หมายถึงวิวัฒนาการการเกิดขึ้นและประวัติความเป็นไปของโลก
(โลกสฺส อคคนฺติ ชานิตพฺพํ ตํ อคฺคญฺญํ, โส ปน โลกสฺส อุปฺปตฺติกฺกโม ปวตฺติปเวณี จาติ) (ที.ปา.อ.
36/14, ที.ปา.ฏีกา 36/13)
2 รู้ชัดยิ่งกว่านั้น ในที่นี้หมายถึงรู้ชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. 36/15)
3 ไม่ยึดมั่น ในที่นี้หมายถึงไม่ยึดมั่นสิ่งที่รู้ชัดด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ที.ปา.อ. 36/15)
4 ความดับ ในที่นี้หมายถึงกิเลสนิพพาน (ความดับกิเลส) (ที.ปา.อ. 36/15)
5 ไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ประสบความทุกข์ คือ ทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุนิพพาน
(ที.ปา.อ. 36/15, ที.ปา.ฏีกา 36/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :27 }