เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงเปลื้องให้
พ้นจากเครื่องผูกใหญ่1 ยกสัตว์ประมาณ 84,000 ขึ้นจากห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก2
เข้าเตโชธาตุ เหาะขึ้นสู่อากาศสูงประมาณ 7 ชั่วลำตาล เนรมิตไฟอื่นให้ลุกโพลง
ประมาณ 7 ชั่วลำตาล มีควันตลบสูงแล้ว จึงมายังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
[35] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เราจึงได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วพยากรณ์
แก่เธอไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้น มิได้เป็น
อย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดงอิทธิ-
ปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แล้ว หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา

เชิงอรรถ :
1 เครื่องผูกใหญ่ ในที่นี้หมายถึงกิเลสตัณหา หรือ สังโยชน์ 10 ประการ คือ (1) สักกายทิฏฐิ (ความเห็น
ว่าเป็นตัวของตน) (2) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (3) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
(4) กามราคะ (ความพอใจในกาม) (5) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่ง) (6) รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่ง
รูปฌาน) (7) อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน) (8) มานะ (ความถือตัว) (9) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (10) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (ที.ปา.ฏีกา 34/13)
2 ห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก ในที่นี้หมายถึงโอฆะ 4 ประการ คือ (1) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม) (2) ภโวฆะ
(โอฆะคือภพ) (3) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (4) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. 34/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :26 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความ
ผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราต่อว่าอยู่อย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องการประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[36] ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก1 เรารู้ชัดความเป็น
มาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น2 และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น3 เมื่อไม่
ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับ4ด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม5
[37] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึง
เข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถาม
ต่อไปว่า ‘พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้ว
จึงตอบว่า

เชิงอรรถ :
1 คำนี้แปลจากคำว่า “อคฺคญฺญํ” อรรถกถาแก้ว่า “โลกปญฺญตฺตึ” และอธิบายว่า ที่ชื่อว่าอัคคัญญะ
เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หมายถึงวิวัฒนาการการเกิดขึ้นและประวัติความเป็นไปของโลก
(โลกสฺส อคคนฺติ ชานิตพฺพํ ตํ อคฺคญฺญํ, โส ปน โลกสฺส อุปฺปตฺติกฺกโม ปวตฺติปเวณี จาติ) (ที.ปา.อ.
36/14, ที.ปา.ฏีกา 36/13)
2 รู้ชัดยิ่งกว่านั้น ในที่นี้หมายถึงรู้ชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. 36/15)
3 ไม่ยึดมั่น ในที่นี้หมายถึงไม่ยึดมั่นสิ่งที่รู้ชัดด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ที.ปา.อ. 36/15)
4 ความดับ ในที่นี้หมายถึงกิเลสนิพพาน (ความดับกิเลส) (ที.ปา.อ. 36/15)
5 ไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ประสบความทุกข์ คือ ทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุนิพพาน
(ที.ปา.อ. 36/15, ที.ปา.ฏีกา 36/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :27 }