เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 2

ภาณวารที่ 2

[285] เมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตลอดราตรีนี้ ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์วางยามรักษาการณ์ไว้
ทั้ง 4 ทิศ วางกองกำลังไว้ทั้ง 4 ทิศ วางหน่วยป้องกันไว้ทั้ง 4 ทิศ ด้วยกองทัพ
ยักษ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพคนธรรพ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพกุมภัณฑ์หมู่ใหญ่ และด้วย
กองทัพนาคหมู่ใหญ่ เมื่อราตรีนั้นผ่านไป มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างไสวทั่วภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ยักษ์เหล่านั้น บางพวกไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกสนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับเราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ประนมมือมาทางที่เราอยู่ นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย ณ ที่สมควร
[286] ภิกษุทั้งหลาย ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
ก็มี ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี
ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมาก ยักษ์ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ทรงแสดง
ธรรมเพื่องดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการ
พูดเท็จ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น
เหตุแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้น
จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้น
จากการพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการงดเว้นนั้นจึงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสาวกของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 2

ที่อาศัยเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึก
น้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์
ควรแก่การหลีกเร้น พวกยักษ์ชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในป่านั้นที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรม-
วินัยของพระผู้มีพระภาคนี้ก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงเรียน
มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง เพื่อ
รักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า’ ภิกษุทั้งหลาย เรารับนิมนต์ด้วยอาการดุษณี
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทราบอาการที่เรารับแล้วจึงได้กล่าวมนต์เครื่อง
รักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ในเวลานั้นว่า
[287] “1ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมพระสิขีพุทธเจ้า
ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า
ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า
ผู้ทรงย่ำยีมารและกองทัพมาร
ขอนอบน้อมพระโกนาคมนพุทธเจ้า
ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า
ผู้หลุดพ้นในที่ทั้งปวง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ข้อ 277-282 หน้า 220-232 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :234 }