เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

พวกเขาหุงข้าวสาลีอันไม่มีรำ ไม่มีแกลบ
บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร
บนเตาอันปราศจากควันและถ่าน1
แล้วบริโภคโภชนะจากที่นั้น
พวกเขาใช้แม่โคแทนม้ากีบเดี่ยว
แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้สัตว์เลี้ยงแทนม้ากีบเดี่ยว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้หญิงเป็นพาหนะ2 แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้ชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กหญิงเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
พระสนมทั้งหลายของท้าวมหาราชนั้น
ก็ขึ้นสู่ยานเหล่านั้น ตามห้อมล้อมไปทุกทิศ
ยานช้าง ยานม้า ยานทิพย์ ปราสาท และวอ
บังเกิดแก่ท้าวมหาราชผู้มียศ
ท้าวเธอทรงมีเมืองหลายเมืองที่สร้างในอากาศ
คือ เมืองอาฏานาฏา เมืองกุสินาฏา
เมืองปรกุสินาฏา เมืองนาฏปริยา เมืองปรกุสิฏนาฏา

เชิงอรรถ :
1 เตาอันปราศจากควันและถ่าน ในที่นี้หมายถึงเตาที่ใช้หินซึ่งมีความร้อนในตัวเอง 3 ก้อนวางเป็นสามเส้า
แล้วนำหม้อข้าวที่บรรจุข้าวสารวางไว้บนก้อนเส้านั้น แล้วข้าวก็จะสุกด้วยความร้อนที่เกิดจากก้อนเส้านั้น
(ที.ปา.อ. 281/157)
2 ใช้หญิงเป็นพาหนะในที่นี้หมายถึงจับผู้หญิงท้องมาเทียมยานให้ลากไปเหมือนม้ากีบเดี่ยว(ที.ปา.อ.
281/157)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :226 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

ทางทิศเหนือ มีเมืองกปีวันตะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่อชโนฆะ
อีกเมืองหนึ่งชื่อนวนวติยะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่ออัมพรอัมพรวติยะ
มีราชธานีชื่ออาฬกมันทา
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ท้าวกุเวรมหาราช
มีราชธานีชื่อวิสาณา
ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราชว่า ‘ท้าวเวสวัณ’
ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา
ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี
ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่อสูโรราชา
ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ชื่ออริฏฐเนมิ
ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ1
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำชื่อธรณี
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเมฆ เกิดฝนตก
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีสภาชื่อภคลวดี
เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์
มีต้นไม้ทั้งหลาย ผลิผลเป็นนิจ
ดารดาษด้วยหมู่นกชนิดต่าง ๆ
มีเสียงร้องของนกยูง นกกะเรียน
และเสียงขับกล่อมจากนกดุเหว่า เป็นต้น

เชิงอรรถ :
1 ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ หมายถึงยักษ์ผู้ครองเมืองแต่ละตน แยกกันทำหน้าที่ดูแล
รักษาผลประโยชน์ของเมืองนั้นและแจ้งข่าวแก่ยักษ์ผู้เฝ้าประตูในทิศต่าง ๆ 12 ทิศ ของวิสาณาราชธานี
เพื่อให้นำไปถวายแก่ท้าวเวสวัณ (ที.ปา.อ. 281/159, ที.ปา.ฏีกา 281/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :227 }