เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

อันเป็นเหตุแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ไม่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิด
ในกาม ไม่งดเว้นจากการพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการงดเว้น
นั้นจึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสาวก
ของพระผู้มีพระภาคที่อาศัยเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น พวกยักษ์ชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในป่านั้นที่ไม่เลื่อมใสใน
พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนี้ก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง
เพื่อรักษา เพื่อไม่ถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงทราบพระอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
แล้วจึงได้กราบทูลมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ในเวลานั้นว่า
[277] “ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมพระสิขีพุทธเจ้า
ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า
ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า
ผู้ทรงย่ำยีมารและกองทัพมาร
ขอนอบน้อมพระโกนาคมนพุทธเจ้า
ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :220 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า
ผู้หลุดพ้นในที่ทั้งปวง
ขอนอบน้อมพระอังคีรสพุทธเจ้าผู้ศากยบุตร
ผู้มีพระสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมนี้
อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่าใดเป็นผู้ดับกิเลสแล้วในโลก
ทรงเห็นแจ้งแล้วตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ส่อเสียด
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระพุทธเจ้า
ผู้โคตมโคตรพระองค์ใด
ทรงเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
[278] พระสุริยะ คือพระอาทิตย์
มีมณฑลใหญ่ ขึ้นทางทิศใด
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กลางคืนก็หายไป
และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเรียกกันว่ากลางวัน
ในที่ที่พระอาทิตย์ขึ้นนั้นมีห้วงน้ำลึก
คือ มหาสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
ชนทั้งหลายรู้จักห้วงน้ำนั้นว่าสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศตะวันออกจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าธตรฐ
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์ มีคนธรรพ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :221 }