เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

9. อาฏานาฏิยสูตร
ว่าด้วยมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ
ภาณวารที่ 1

[275] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์วางยามรักษาการณ์ไว้ทั้ง 4 ทิศ วางกองกำลังไว้
ทั้ง 4 ทิศ วางหน่วยป้องกันไว้ทั้ง 4 ทิศ ด้วยกองทัพยักษ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพ
คนธรรพ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพกุมภัณฑ์หมู่ใหญ่ และด้วยกองทัพนาคหมู่ใหญ่
เมื่อราตรีผ่านไป1 มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไสวทั่วภูเขาคิชฌกูฏ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและตระกูลแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย
ณ ที่สมควร
[276] ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
ก็มี ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี
ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมาก ยักษ์ไม่เลื่อมใสพระผู้มี
พระภาคเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้น
จากการฆ่าสัตว์ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้
ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้น
จากการพูดเท็จ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย

เชิงอรรถ :
1 เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงปฐมยาม คือยามที่หนึ่งผ่านไป (ในคืนหนึ่ง แบ่งเป็น 3 ยาม ยามละ 4 ชั่วโมง
เรียกปฐมยาม มัชฌิมยามและปัจฉิมยาม ตามลำดับ) (ที.ม.อ. 293/259, ที.ปา.อ. 275/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :219 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

อันเป็นเหตุแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ไม่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิด
ในกาม ไม่งดเว้นจากการพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการงดเว้น
นั้นจึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสาวก
ของพระผู้มีพระภาคที่อาศัยเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น พวกยักษ์ชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในป่านั้นที่ไม่เลื่อมใสใน
พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนี้ก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง
เพื่อรักษา เพื่อไม่ถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงทราบพระอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
แล้วจึงได้กราบทูลมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ในเวลานั้นว่า
[277] “ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมพระสิขีพุทธเจ้า
ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า
ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า
ผู้ทรงย่ำยีมารและกองทัพมาร
ขอนอบน้อมพระโกนาคมนพุทธเจ้า
ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :220 }