เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [8. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

“มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ1 พึงไหว้ทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ2
มีความประพฤติเจียมตน
ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนขยัน ไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน3
มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนชอบสงเคราะห์
ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก4
ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ
ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้
(ที.ปา.อ. 273/150)
2 มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง
(ที.ปา.อ. 273/150)
3 ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ. 273/150)
4 รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น (ที.ปา.อ. 273/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :217 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [8. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก)
อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้
และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ)
ในธรรมนั้น ๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก
เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น
ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้
มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ
หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ
แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้
ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”
[274] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระ
องค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สิงคาลกสูตรที่ 8 จบ