เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [8. สิงคาลกสูตร] มิตรมีใจดี

คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ 4
ประการนี้แล
[264] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดย
เหตุ 4 ประการ คือ
1. ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน
2. พอใจความเจริญของเพื่อน
3. ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน
4. สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน
คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ 4
ประการนี้แล”
[265] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี 4 จำพวกนี้ คือ
(1) มิตรมีอุปการะ (2) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
(3) มิตรแนะนำประโยชน์ (4) มิตรมีความรักใคร่
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
พึงเข้าไปคบหาโดยความจริงใจ
เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ
เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง
โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถ
ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :211 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [8. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน
คือส่วนหนึ่งใช้สอย 2 ส่วนใช้ประกอบการงาน
ส่วนที่ 4 เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย
จึงผูกมิตรไว้ได้”

ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
ว่าด้วยการปิดป้องทิศ 6

[266] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ 6 เป็นอย่างไร
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ 6 นี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
[267] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่
5 ประการ คือ
1. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
2. จักทำกิจของท่าน
3. จักดำรงวงศ์ตระกูล
4. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ 5 ประการนี้แล ย่อม
อนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ 5 ประการ คือ
1. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
2. ให้ตั้งอยู่ในความดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :212 }