เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ภัคควะ ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะเข้าไปหานักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร ถึงอารามของตินทุกขาณุปริพาชกแล้วกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ท่านกลับไปดีกว่า พวกเจ้าลิจฉวีผู้มี
ชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มี
ชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อาราม
ของท่าน อนึ่ง ท่านได้เคยพูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมเป็นญาณวาท ฯลฯ เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่านแล้ว อนึ่ง พระสมณโคดมได้ตรัสวาจาในบริษัทว่า
‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้าลิจฉวีผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเรา
จะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด
หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้า
กับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้นก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ด้วยการกลับไปของท่านนั่นแหละ พวกเราจะ
ทำให้ท่านชนะ จะทำให้พระสมณโคดมแพ้’
ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะกล่าวอย่างนี้ นักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร จึงกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจ
ลุกจากที่นั่งได้ ครั้งนั้น ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ จึงกล่าวกับ
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรไปเล่า ตะโพก
ของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’
แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร แม้ถูกชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า
‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :21 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

[27] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะนั้นได้ทราบว่า
‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่
นั้นเองไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ จึงกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คือ ราชสีห์1เจ้าแห่งสัตว์ป่า คิดว่า ‘ทาง
ที่ดี เราพึงอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้นแล้ว พึงออก
จากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว
พึงเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศแล้ว พึงบันลือ
สีหนาท2 3 ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท 3 ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน เรานั้นล่าหมู่เนื้อ
ตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม’
ครั้งนั้น พญาราชสีห์นั้น อาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ใน
ป่าทึบนั้นแล้ว ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว บิดกาย ครั้น
บิดกายแล้ว เหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศแล้ว
บันลือสีหนาท 3 ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท 3 ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน มันล่า
หมู่เนื้อตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม
[28] ท่านปาฏิกบุตร มีสุนัขจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง เจริญเติบโตด้วยการกินเนื้อที่
เป็นเดนของราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่านั้นนั่นเอง อ้วนท้วน มีกำลัง ต่อมา สุนัขจิ้งจอก
แก่ตัวนั้น เกิดความคิดดังนี้ว่า ‘เราเป็นใคร ราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่าเป็นใคร ทางที่ดี
เราควรอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้น พึงออกจากที่
ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว พึงเหลียว
ดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศแล้ว พึงบันลือสีหนาท

เชิงอรรถ :
1 ราชสีห์ ได้แก่ พญาสิงโต มี 4 ชนิด คือ (1) ติณราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเขียว) (2) กาฬราชสีห์ (ราชสีห์
ที่มีสีดำ) (3) ปัณฑุราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเหลือง) (4) ไกรสรราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีขาวหรือมีสีแดง) ในที่นี้
หมายถึงไกรสรราชสีห์ที่เลิศกว่าราชสีห์ทุกประเภท (ที.ปา.อ. 27/12)
2 บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการเปล่งเสียงดังของราชสีห์ด้วยความกรุณาต่อสัตว์ที่อ่อนแอเพื่อให้หลีกหนี
ไปเสียก่อน (ที.ปา.อ. 27/12)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :22 }