เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

พระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ฝ่ายภัคควโคตรปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร (โอรสของเจ้าลิจฉวี) ได้มาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้บอก
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านภัคควะ บัดนี้ ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้า
ไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้วนั้นเป็นจริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภัคควะ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้ว
นั่นเป็นจริง
[3] เมื่อหลายวันมาแล้ว สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่
ไหว้เรา แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้
ข้าพระองค์ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘สุนักขัตตะ
เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศเรา’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘ก็หรือเธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา’ ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร
โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :2 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

[4] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย’
‘สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่
อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘หรือว่า เธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศพระ
ผู้มีพระภาค’ (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์แก่ข้าพระองค์’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตามหรือ(ไม่)’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม สุนักขัตตะ เมื่อเป็นเช่นนั้น
การที่เราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์จะก่อผลอะไรได้เล่า โมฆ-
บุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :3 }