เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
31-32. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

สม่ำเสมอ ขาว สะอาด งดงาม
เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินใหญ่
จะทรงมีคนหมู่มากเป็นบริวารที่สะอาด
และไม่มีการข่มขี่ให้เดือดร้อนในราชอาณาจักร
คนทั้งหลายต่างประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
และเป็นความสุขแก่คนหมู่มาก
ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นสมณะ
จะปราศจากบาปธรรม
มีกิเลสเพียงดังธุลีระงับไป เป็นผู้ไม่มีกิเลส
ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบาก
จะทรงเห็นโลกนี้และโลกอื่น
คฤหัสถ์จำนวนมากและพวกบรรพชิต
ผู้ที่ทำตามโอวาทของพระองค์
จะกำจัดบาปธรรมที่ไม่สะอาดอันบัณฑิตติเตียนแล้ว
มีบริวารที่สะอาด
กำจัดสนิมตะปู1 โทษและกิเลสเสียได้แวดล้อมพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ลักขณสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [8. สิงคาลกสูตร] ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ

8. สิงคาลกสูตร
ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ

[242] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกะ คหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า(ทิศ
ตะวันออก) ทิศเบื้องขวา(ทิศใต้) ทิศเบื้องหลัง(ทิศตะวันตก) ทิศเบื้องซ้าย(ทิศเหนือ)
ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
[243] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ คหบดีบุตร
ผู้ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี
ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศ
เบื้องล่าง ทิศเบื้องบนแล้ว ได้ตรัสถามสิงคาลกะ คหบดีบุตรดังนี้ว่า “คหบดีบุตร
เธอลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี
ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิซเบื้องซ้าย
ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุไร”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์
ก่อนจะตาย ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ‘นี่แน่ะลูก เจ้าพึงไหว้ทิศทั้งหลาย’ ข้าพระองค์
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศ
เบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :199 }