เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
26-27. ลักษณะพระทนต์ 40 ซี่และไม่ห่างกัน

26-27. ลักษณะพระทนต์ 40 ซี่และไม่ห่างกัน1

[234] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้น
เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน
พูดแต่คำที่สร้างสรรค์ความสามัคคีกัน เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น
ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ได้ลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้
คือ (1) มีพระทนต์ 40 ซี่ (2) มีพระทนต์ไม่ห่าง
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงมี
บริษัทที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าว
มานี้ ฯลฯ เมื่อ เป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริษัท
ที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง
ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[235] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 23,25

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :191 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
26-27. ลักษณะพระทนต์ 40 ซี่และไม่ห่างกัน

“มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสวาจา
ที่ทำให้เกิดการแตกแยกกัน
คือ ทำผู้ที่ปรองดองกันให้แตกแยกกัน
ทำให้การวิวาทขยายตัวไปสู่การแตกแยกกัน
ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน
(และ) ที่ก่อให้เกิดการแตกแยกแก่คนที่ปรองดองกัน
ตรัสแต่วาจาอ่อนหวาน
คือ ที่ส่งเสริมการไม่วิวาทกัน
ที่ก่อให้เกิดสมานฉันท์ระหว่างผู้ที่แตกกัน
ขจัดความทะเลาะของชุมชนทำให้สามัคคีกัน
และทรงเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับผู้ที่ปรองดองกัน
มหาบุรุษนั้น เสวยผลวิบากในสุคติ
เสด็จมาในโลกนี้ มีพระทนต์ 40 ซี่
มีพระทนต์ไม่ห่าง เรียบสนิท
ได้สัดส่วน เกิดขึ้นในพระโอษฐ์
ถ้าเป็นกษัตริย์ จะทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
จะทรงมีบริษัทไม่แตกแยกกัน
ถ้าเป็นสมณะจะทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี
และเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังมลทิน
บริษัทของพระองค์ จะเป็นผู้ดำเนินตามไม่หวั่นไหว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :192 }