เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
24-25. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

24-25. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

และพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น1
[232] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือพูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ
2 ประการนี้ คือ (1) มีพระโลมชาติเดี่ยว (2) มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาว
อ่อนเหมือนนุ่น
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็น
ผู้ที่คนหมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และ
มหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี
กุมาร ประพฤติตาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็น
พระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้ที่คนหมู่มาก คือ ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[233] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 13,31

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :189 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
24-25. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

“ในชาติก่อน ๆ มหาบุรุษมีสัจปฏิญาณ
มีพระวาจาไม่เป็นสอง เว้นคำเหลวไหล
ไม่ตรัสให้คลาดเคลื่อนแก่ใคร ๆ
ตรัสตามความจริงแท้ แน่นอน
มีพระอุณาโลมสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น
เกิดในระหว่างพระโขนง
และไม่มีพระโลมชาติเกิดในขุมเดียวกัน 2 เส้น
ทั่วพระสรีระสะพรั่งด้วยพระโลมชาติเดี่ยว
พวกผู้รู้พระลักษณะ
ฉลาดในลางและนิมิต จำนวนมากมาประชุมกัน
แล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า
พระอุณาโลมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่บ่งชัดว่า
คนหมู่มากจะประพฤติตามพระองค์ผู้มีลักษณะเช่นนี้
มหาบุรุษแม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ผู้เช่นนี้
มหาชนก็ประพฤติตาม
เพราะกรรมที่ทรงกระทำไว้มากในชาติก่อน
แม้ทรงเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความกังวล
เป็นบรรพชิตผู้ยอดเยี่ยม
ประชาชนก็ประพฤติตาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :190 }