เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
21-22. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

21-22. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด1

[228] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ไม่ถลึงตาดู2 ไม่ค้อน ไม่เมิน มองตรง มองเต็มตา และแลดูคนหมู่มากด้วย
ดวงตาเปี่ยมด้วยความรัก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจาก
เทวโลกแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้ คือ (1) มีดวง
พระเนตรดำสนิท (2) มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ
เป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคนหมู่มากและเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพราหมณ์และคหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคน
หมู่มาก และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา
มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[229] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อน ไม่เมิน
มองตรง มองเต็มตา
แลดูคนหมู่มากด้วยดวงพระเนตรเปี่ยมด้วยความรัก
พระองค์เสวยผลวิบากในสุคติทั้งหลาย
บันเทิงอยู่ในสุคติเหล่านั้น เสด็จมาในโลกนี้
มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 29,30
2 ไม่ถลึงตาดู ในที่นี้หมายถึงไม่จ้องดูด้วยความโกรธจนตาถลนเหมือนตาปู (ที.ปา.อ. 228/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :186 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
23. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

และมีดวงพระเนตรดำสนิท
มองเห็นได้ชัดเจน
พวกมนุษย์จำนวนมากเป็นอภิโยคี1
มีความรอบคอบ ฉลาดในนิมิต
ฉลาดในการทำนายอย่างละเอียดถี่ถ้วน
จะชมเชยพระกุมารนั้นว่า ‘เป็นผู้ที่แลดูน่ารัก’
อนึ่ง แม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ ก็แลดูน่ารัก
เป็นที่รักของคนหมู่มาก
ถ้าไม่ทรงเป็นคฤหัสถ์ ทรงเป็นพระสมณะ
จะทรงเป็นที่รักและดับโศกของคนหมู่มาก”

23. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์2

[230] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้นำของคนหมู่มากในกุศลธรรม เป็นประมุขของคนหมู่มากในกายสุจริต
ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการจำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ
ในความเกื้อกูลมารดา ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูล
พราหมณ์ ในความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรมอันยิ่ง
อื่น ๆ อีก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้น
แล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระเศียรดุจประดับด้วย
กรอบพระพักตร์
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็นผู้ที่คน
หมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์

เชิงอรรถ :
1 เป็นอภิโยคี ในที่นี้หมายถึงผู้รู้ในลักษณศาสตร์ (ที.ปา.อ. 229/128)
2 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 32

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :187 }