เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
15-16. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

บุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ แล้วทำให้เหมาะกับความแตกต่างในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน
เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่
ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้ คือ (1) มีพระวรกายเป็น
ปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (2) เมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรง
ลูบคลำถึงพระชานุ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ
ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์น่าปลื้มใจ
มาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีพระคลังเต็มบริบูรณ์ เมื่อเป็นพระราชาจะทรง
ได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ
ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก พระองค์จะทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ
สัทธาธนะ (ทรัพย์คือศรัทธา) สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล) หิริธนะ (ทรัพย์คือหิริ) โอตตัปปธนะ
(ทรัพย์คือโอตตัปปะ) สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ) จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ) ปัญญาธนะ
(ทรัพย์คือปัญญา) เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[223] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์
พิจารณาแล้ว สอดส่องแล้ว คิดแล้ว หยั่งทราบว่า
‘บุคคลนี้ ควรกับสิ่งนี้’ แล้วทำให้เหมาะ
กับความแตกต่างของบุคคลในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน
ก็แล เพราะเศษของผลกรรมที่เป็นสุจริต
พระมหาบุรุษเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลง
ก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :181 }