เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
11. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

[215] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงปรารถนาอยู่ว่า
‘ทำอย่างไร ชนทั้งหลายจะพึงรู้
ในเรื่องศิลปะ ในเรื่องวิชา ในเรื่องจรณะ
ในเรื่องกรรมได้อย่างแจ่มชัดโดยพลัน’
ศิลปะเป็นต้นใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ
จะทรงบอกศิลปะเป็นต้นนั้นทันที
ด้วยทรงหวังว่า ‘เขาจะไม่ต้องลำบากนาน’
เพราะทรงทำกุศลธรรม มีความสุขเป็นกำไรนั้นแล้ว
จึงทรงได้พระชงฆ์เป็นที่พึงใจ
กลมได้สัดส่วน งดงามเรียวไปตามลำดับ
มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น
และมีพระตจะอันละเอียดห่อหุ้มแล้ว
บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงมหาบุรุษนั้นว่า
‘มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย’
และกล่าวถึงลักษณะแห่งคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ทันทีว่า
‘ถ้ามหาบุรุษนี้ไม่ทรงออกผนวช
จะได้สิ่งที่พระองค์ปรารถนา
อันสมควรแก่การครองเรือนทันที
แต่ถ้ามหาบุรุษเช่นนั้นทรงออกผนวช
ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ มีพระปรีชาเห็นแจ้ง
มีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน
จะทรงได้สิ่งที่เหมาะที่ควรทันที”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :175 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
12. ลักษณะพระฉวีละเอียด

12. ลักษณะพระฉวีละเอียด1

[216] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง
อะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่
ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะตถาคตได้ทำ
สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลี
ไม่อาจติดพระวรกายได้
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีปัญญามาก
บรรดากามโภคีบุคคล ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีปัญญามาก ทรงมีปัญญากว้างขวาง ทรงมีปัญญา
ร่าเริง ทรงมีปัญญาแล่นไป ทรงมีปัญญาเฉียบแหลม ทรงมีปัญญาชำแรกกิเลส
บรรดาสรรพสัตว์ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้
ไว้แล้ว
[217] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
ประสงค์จะรู้ทั่วถึง จึงเข้าไปหาบรรพชิต
สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งประโยชน์
ไตร่ตรองเรื่องที่เป็นประโยชน์

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 12

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :176 }