เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
11. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

[215] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงปรารถนาอยู่ว่า
‘ทำอย่างไร ชนทั้งหลายจะพึงรู้
ในเรื่องศิลปะ ในเรื่องวิชา ในเรื่องจรณะ
ในเรื่องกรรมได้อย่างแจ่มชัดโดยพลัน’
ศิลปะเป็นต้นใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ
จะทรงบอกศิลปะเป็นต้นนั้นทันที
ด้วยทรงหวังว่า ‘เขาจะไม่ต้องลำบากนาน’
เพราะทรงทำกุศลธรรม มีความสุขเป็นกำไรนั้นแล้ว
จึงทรงได้พระชงฆ์เป็นที่พึงใจ
กลมได้สัดส่วน งดงามเรียวไปตามลำดับ
มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น
และมีพระตจะอันละเอียดห่อหุ้มแล้ว
บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงมหาบุรุษนั้นว่า
‘มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย’
และกล่าวถึงลักษณะแห่งคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ทันทีว่า
‘ถ้ามหาบุรุษนี้ไม่ทรงออกผนวช
จะได้สิ่งที่พระองค์ปรารถนา
อันสมควรแก่การครองเรือนทันที
แต่ถ้ามหาบุรุษเช่นนั้นทรงออกผนวช
ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ มีพระปรีชาเห็นแจ้ง
มีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน
จะทรงได้สิ่งที่เหมาะที่ควรทันที”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :175 }