เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
7-8. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

สม่ำเสมอ) เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว
หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้ คือ (1) มีพระหัตถ์และ
พระบาทอ่อนนุ่ม (2) มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็น
รูปตาข่าย
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี
บริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ พราหมณ์ คหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารอันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็น
พระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น
พระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ อันพระองค์
สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[211] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงกระทำ
และประพฤติสังคหธรรมอย่างดีแก่คนหมู่มาก
คือ (1) ทาน (2) เปยยวัชชะ1
(3) อัตถจริยา (4) สมานัตตตา
ไปสู่สวรรค์ด้วยคุณที่ใคร ๆ ดูหมิ่นไม่ได้
จุติจากสวรรค์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ก็เป็นพระกุมารยังหนุ่มแน่น งดงาม
ทรงได้พระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

เชิงอรรถ :
1 บาลีเป็นปิยวาทิตะ แปลว่า การกล่าววาจาเป็นที่รัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :171 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
9-10. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น

ที่ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท
มีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
งามอย่างยิ่ง เลอเลิศ และน่าชม
ถ้าพระองค์ครอบครองแผ่นดินนี้
ก็จะมีบริวารอันพระองค์ตรวจตรา และสงเคราะห์ดี
ตรัสวาจาเป็นที่รัก
แสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้
ทรงประพฤติคุณงามความดีที่พระองค์โปรดยิ่ง
ถ้าพระองค์ทรงละการบริโภคกามทั้งปวง
เป็นพระชินสีห์ ตรัสธรรมกถาแก่ประชุมชน
ชนทั้งหลายก็จะสนองพระดำรัสของพระองค์
เลื่อมใสยิ่งนัก ครั้นฟังธรรมแล้ว
ย่อมจะพากันประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม”

9-10. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น1

[212] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม แนะนำคน
หมู่มาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็น
ปกติ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์ ฯลฯ
จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้
คือ (1) มีข้อพระบาทสูง (2) มีพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 2 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา
จะเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ดีกว่าหมู่ชนผู้บริโภคกาม

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 7,14

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :172 }