เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
3-5. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงเสด็จเข้าไปสู่โลกทิพย์
เสวยความสุขและสมบัติอันน่าเพลิดเพลินยินดี
ครั้นจุติจากโลกทิพย์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงได้ลายจักรทั้งหลายที่ฝ่าพระบาททั้งสอง
มีกำข้างละ 1,000 ซี่ มีกง โดยรอบ
พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะ
มาประชุมกันแล้ว เห็นพระกุมารมีลักษณะ
อันเกิดแต่บุญเป็นร้อย ๆ แล้วทำนายว่า
‘พระกุมารนี้จักมีบริวาร จักย่ำยีศัตรู
เพราะจักรทั้งหลายมีกงโดยรอบอย่างนั้น
ถ้าพระกุมารนั้นไม่ทรงออกผนวช
จะหมุนจักรให้เป็นไปและปกครองแผ่นดิน
จะมีกษัตริย์ผู้มียศมากติดตามห้อมล้อมพระองค์
ถ้าทรงออกผนวชจะ ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง
พวกเทพ มนุษย์ อสูร ท้าวสักกะ ยักษ์
คนธรรพ์ นาค นก และสัตว์สี่เท้าจะแวดล้อม
พระองค์ผู้มียศมาก ผู้มีเทพและมนุษย์บูชาไม่มีใครยิ่งกว่า”

3-5. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น1

[206] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย
มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้
ได้ลักษณะมหาบุรุษ 3 ประการนี้ คือ (1) มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป (2) มีพระ
องคุลียาว (3) มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 3,4,15

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :167 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
3-5. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ 3 ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี
พระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น
มนุษย์คนใดสามารถปลงพระชนมชีพในระหว่างได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดัง
กล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะมีพระ
ชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น
สมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกสามารถปลงพระชนมชีพใน
ระหว่าง1ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
เนื้อความนี้ไว้แล้ว
[207] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงทราบว่าการฆ่าสัตว์เป็นภัยแก่ตน
ได้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์อื่น
แล้วได้เสด็จไปสู่สวรรค์ เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น
เสวยวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว
จุติแล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ได้ลักษณะ 3 ประการในโลกนี้ คือ
(1) มีส้นพระบาทสมส่วนยื่นยาวออกไป
(2) มีพระวรกายเกิดดี งดงามตั้งตรงดุจกายพรหม
มีทรวดทรงดี สมส่วนแลดูหนุ่มเสมอ
(3) มีพระองคุลีอ่อนนุ่มยาว
พระชนกเป็นต้น ทรงบำรุงพระกุมาร
ให้มีพระชนมายุยืนยาว
เพราะพระองค์สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ 3 ประการ

เชิงอรรถ :
1 ในระหว่าง ในที่นี้หมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิ(เกิด) จนถึงจุติ (ดับ) (ที.ปา.อ. 206/115, ที.ปา.ฏีกา
206/135)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :168 }