เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
1. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

“มหาบุรุษทรงยินดีในสัจจะ1 ในธรรม2
ในการฝึก3 ในความสำรวม4 ในความสะอาด5
ในศีลที่เป็นอาลัย ในอุโบสถกรรม
ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในกรรมอันไม่สาหัส
ทรงสมาทานมั่น ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ
เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงไปสู่โลกทิพย์
เสวยสุขและสมบัติที่น่าเพลิดเพลินยินดี
จุติจากโลกทิพย์แล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงเหยียบปฐพีด้วยพระบาททั้งสองอันราบเสมอกัน
พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะมาประชุมกันทำนายว่า
‘พระกุมารนี้ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
เป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตก็ไม่มีใครข่มได้
พระลักษณะนั้นเป็นนิมิตส่องความนั้น
พระกุมารนี้ เมื่ออยู่ครองเรือน ไม่มีใครข่มได้
มีแต่ครอบงำพวกปรปักษ์ เหล่าข้าศึกศัตรูข่มมิได้
ใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ หาข่มได้ไม่
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
ถ้าพระกุมารผู้มีพระลักษณะเช่นนั้น
ทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง เป็นอัครบุคคล
ไม่มีใคร ๆ ข่มได้แน่นอน เป็นผู้สูงสุดกว่านรชน’
นี้เป็นธรรมดาของพระกุมารนั้น”

เชิงอรรถ :
1 สัจจะ ในที่นี้หมายถึงคำสัตย์ (ที.ปา.อ. 203/112)
2 ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ที.ปา.อ. 203/112)
3 การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกอินทรีย์ (ที.ปา.อ. 203/112)
4 ความสำรวม ในที่นี้หมายถึงความสำรวมในศีล (ที.ปา.อ. 203/112)
5 ความสะอาด ในที่นี้หมายถึงสุจริต 3 ประการ คือ (1) กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย) (2) วจีสุจริต
(ประพฤติชอบด้วยวาจา) (3) มโนสุจริต (ประพฤติชอบด้วยใจ) (ที.ปา.อ. 203/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :165 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
2. ลักษณะของจักรบนพื้นฝ่าพระบาท

2. ลักษณะของจักรบนพื้นพระบาท

[204] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ได้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความ
หวาดสะดุ้ง จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและให้ทานพร้อมทั้งของที่
เป็นบริวาร เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว
หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตครอบงำเทพเหล่าอื่นใน
เทวโลกนั้นด้วยฐานะ 10 ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้
ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ 1,000 ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างและจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงมีบริวาร
มาก คือ มีพราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์
แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารเป็นบริวาร
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ
ทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารมาก คือ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์เป็นบริวาร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า
จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[205] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก
บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดสะดุ้ง
ขวนขวายในการคุ้มครองรักษาป้องกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :166 }