เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
1. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

32. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระเศียร
ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการนี้
จึงมีคติเพียง 2 อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
1. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ
2. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกฤๅษีภายนอก ก็อาจจำลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการนี้
ของมหาบุรุษได้ แต่ฤๅษีเหล่านั้นไม่ทราบว่า ‘เพราะมหาบุรุษทรงทำกรรมนี้จึงได้
ลักษณะนี้’

1. ลักษณะพระบาทราบเสมอกัน

[201] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน1 กำเนิดก่อน2 ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์สมาทานในกุศลธรรม3 สมาทานมั่นคงในกายสุจริต(ประพฤติชอบด้วยกาย)
ในวจีสุจริต(ประพฤติชอบด้วยวาจา) ในมโนสุจริต(ประพฤติชอบด้วยใจ) ในการ
จำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความเกื้อกูลมารดา
ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูลพราหมณ์ ในความ
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรม4อันยิ่งอื่น ๆ อีก เพราะ
ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว
ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ 10

เชิงอรรถ :
1 ชาติก่อน ภพก่อน หมายถึงชาติที่เคยเกิดมาก่อน (ที.ปา.อ. 201/108)
2 กำเนิดก่อน หมายถึงที่อยู่อาศัยในชาติก่อน (ที.ปา.อ. 201/108)
3 กุศลธรรม หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ที.ปา.อ. 201/109)
4 กุศลธรรมอันยิ่ง มีความหมายต่อไปนี้ คือ (1) กามาวจรกุศล (2) รูปาวจรกุศล (3) อรูปาวจรกุศล
(4) สาวกบารมีญาณ (5) ปัจเจกโพธิญาณ (6) สัพพัญญุตญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.
อ. 201/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :163 }