เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ

20. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่มหาบุรุษมีลำพระศอกลมเท่ากัน
ตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
21. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่มหาบุรุษมีเส้นประสาท
รับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
22. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
23. มีพระทนต์ 40 ซี่ ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ 40 ซี่นี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ
24. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์เรียบเสมอกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
25. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
26. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่มหาบุรุษมีพระเขี้ยวแก้วขาวงามนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
27. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่มหาบุรุษมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
28. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่
มหาบุรุษมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวกนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
29. มีดวงพระเนตรดำสนิท ข้อที่มหาบุรุษมีดวงพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
30. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่มหาบุรุษมีดวง
พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษ
31. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น ข้อที่มหาบุรุษ
มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่นนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
1. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

32. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระเศียร
ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการนี้
จึงมีคติเพียง 2 อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
1. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ
2. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกฤๅษีภายนอก ก็อาจจำลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการนี้
ของมหาบุรุษได้ แต่ฤๅษีเหล่านั้นไม่ทราบว่า ‘เพราะมหาบุรุษทรงทำกรรมนี้จึงได้
ลักษณะนี้’

1. ลักษณะพระบาทราบเสมอกัน

[201] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน1 กำเนิดก่อน2 ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์สมาทานในกุศลธรรม3 สมาทานมั่นคงในกายสุจริต(ประพฤติชอบด้วยกาย)
ในวจีสุจริต(ประพฤติชอบด้วยวาจา) ในมโนสุจริต(ประพฤติชอบด้วยใจ) ในการ
จำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความเกื้อกูลมารดา
ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูลพราหมณ์ ในความ
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรม4อันยิ่งอื่น ๆ อีก เพราะ
ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว
ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ 10

เชิงอรรถ :
1 ชาติก่อน ภพก่อน หมายถึงชาติที่เคยเกิดมาก่อน (ที.ปา.อ. 201/108)
2 กำเนิดก่อน หมายถึงที่อยู่อาศัยในชาติก่อน (ที.ปา.อ. 201/108)
3 กุศลธรรม หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ที.ปา.อ. 201/109)
4 กุศลธรรมอันยิ่ง มีความหมายต่อไปนี้ คือ (1) กามาวจรกุศล (2) รูปาวจรกุศล (3) อรูปาวจรกุศล
(4) สาวกบารมีญาณ (5) ปัจเจกโพธิญาณ (6) สัพพัญญุตญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.
อ. 201/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :163 }