เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

1. จุนทะ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจาก
ตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่าน
กล่าวคำว่า ‘อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว’ ใช่ไหม และ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์แต่ละพวก ๆ มีความเข้าใจใน
เรื่องนี้แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่เสมอกับเราในเรื่องบัญญัติ
แม้นี้ ผู้ที่เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน ความจริงเราเท่านั้นเป็นผู้
เหนือกว่าใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
[195] 2. จุนทะ บรรดาสมณพรหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน
หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
3. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
4. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาจะว่ามีรูปก็มิใช่ จะว่าไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจาก
ตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
5. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาที่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :156 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

6. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาที่ไม่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
7. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาจะว่ามีสัญญาก็มิใช่ จะว่าไม่มีสัญญาก็มิใช่ ยั่งยืน หลัง
จากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
8. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านกล่าวคำว่า
‘อัตตาย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว’
ใช่ไหม และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้นของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์แต่ละพวก ๆ
มีความเข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่เสมอกับเราในเรื่อง
บัญญัติแม้นี้ ผู้ที่เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน ความจริง เราเท่านั้น
เป็นผู้เหนือกว่าใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
จุนทะ เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคตเหล่านี้แล แก่เธอ
ทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ ในเรื่องนั้นยังมีอะไรอีกเล่า ที่เราไม่
ได้พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย
[196] จุนทะ เราแสดง บัญญัติสติปัฏฐาน 4 ประการไว้ อย่างนี้ ก็เพื่อละ
เพื่อก้าวล่วงทิฏฐินิสัยอันสหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตเหล่านี้ และทิฏฐินิสัยอันสหรคต
ด้วยขันธ์ส่วนอนาคตเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :157 }