เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตแก่เธอทั้งหลาย ทั้งที่
ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ คืออะไร
คือ
1. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก1เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
2. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
3. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
4. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
5. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีตนเองเป็นตัวการ2 นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

เชิงอรรถ :
1 อัตตาและโลก แยกอธิบายได้ดังนี้ คำว่า อัตตา และ โลก มีความหมาย 5 นัย คือ
นัยที่ 1 ทั้ง อัตตา และโลก หมายถึงขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นัยที่ 2 อัตตา หมายถึงอหังการวัตถุ หรือเหตุให้เกิดมานะว่าเป็นเรา โลก หมายถึงมมังการวัตถุ คือเหตุ
ให้เกิดตัณหาว่าเป็นของเรา
นัยที่ 3 อัตตา หมายถึงตนเอง โลก หมายถึงผู้อื่น
นัยที่ 4 อัตตา หมายถึงขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในอุปาทานขันธ์ 5 โลก หมายถึงสิ่งอื่นนอกจากขันธ์ 5
นัยที่ 5 อัตตา หมายถึงขันธสันดานที่มีวิญญาณ โลก หมายถึงขันธสันดานที่ไม่มีวิญญาณ
คำว่า “อัตตาและโลกเที่ยง” ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงสัสสตวาทะ 4 ประการ ส่วนคำว่า “อัตตาและโลก
ไม่เที่ยง” ทรงมุ่งแสดงอุจเฉทวาทะ 7 ประการ (ขุ.อุ.อ. 55/369)
2 เป็นตัวการ แปลจากบาลีว่า “สยํกโต” ในที่นี้หมายถึงลัทธิสยังการ (ลัทธิสยังการ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
ลัทธิอัตตการ) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่า ตนเป็นตัวการ คือ เป็นผู้สร้างอัตตาและโลกขึ้นเอง (ขุ.อุ.อ. 56/371)
หมายถึงพวกอธิจจสมุปปันนวาทะ คือลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง มิได้อาศัยเหตุอะไร เป็น
ลัทธิปฏิเสธทั้งลัทธิสยังการ และลัทธิปรังการ (ผู้อื่นเป็นตัวการ) พวกอธิจจสมุปปันนวาทะนี้ เรียกอีกชื่อ
หนึ่งว่า อเหตุกวาทะ (ขุ.อุ.อ. 55-56/370-372) และดู สํ.นิ. (แปล) 16/17/27-28, สํ.นิ.อ. 2/17/40
ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :150 }