เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค

จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร ยึดถือสุขัลลิกานุโยค 4 ประการนี้อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวกับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า ‘ท่านทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้’ อัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงเธอทั้งหลายก็กล่าวได้ถูกต้อง มิใช่กล่าวตู่เธอทั้งหลาย
ด้วยคำที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง

ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค

[185] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ก็ท่านทั้งหลายยึดถือสุขัลลิกานุโยค 4 ประการนี้อยู่ พึงหวังผลได้เท่าไหร่ พึงหวัง
อานิสงส์ได้เท่าไหร่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะ
อย่างนั้นว่า ‘พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค 4 ประการนี้อยู่ พึงหวังได้ผล 4 ประการ
พึงหวังได้อานิสงส์ 4 ประการ
ผล 4 ประการ อานิสงส์ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ 3 ประการ
สิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
นี้เป็นผลประการที่ 1 อานิสงส์ประการที่ 1
2. ภิกษุเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ นี้เป็นผลประการที่ 2 อานิสงส์ประการที่ 2
3. ภิกษุเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก นี้เป็นผลประการที่ 3 อานิสงส์
ประการที่ 3
4. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นผลประการที่ 4
อานิสงส์ประการที่ 4
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค 4 ประการนี้อยู่ พึงหวัง
ได้ผล 4 ประการ พึงหวังได้อานิสงส์ 4 ประการนี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :143 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ

ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ

[186] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร มีหลักการไม่แน่นอนอยู่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หลักการที่พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้1ทรงเห็น2 เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้
บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิตมีอยู่
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เสาเขื่อน หรือเสาเหล็ก มีรากลึก ปักไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว
ไม่สั่นสะเทือน แม้ฉันใด หลักการที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้ บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่
เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว3 บรรลุ
ประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบได้ ภิกษุนั้น
ไม่อาจประพฤติละเมิดฐานะ 9 ประการ คือ
1. ภิกษุขีณาสพไม่อาจจงใจปลงชีวิตสัตว์
2. ภิกษุขีณาสพไม่อาจถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย
3. ภิกษุขีณาสพไม่อาจเสพเมถุนธรรม
4. ภิกษุขีณาสพไม่อาจพูดเท็จทั้งที่รู้
5. ภิกษุขีณาสพไม่อาจสะสมบริโภคกาม4เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์
6. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะชอบ

เชิงอรรถ :
1 ทรงรู้ ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. 186/102)
2 ทรงเห็น ในที่นี้หมายถึงทรงเห็นด้วยจักษุ 5 คือ (1) มังสจักขุ (ตาเนื้อ) (2) ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)
(3) ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา) (4) พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) (5) สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ที.ปา.อ.
186/102)
3 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 116 หน้า 87 ในเล่มนี้
4 กาม ในที่นี้หมายถึงทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม (ที.ปา.อ. 186/102)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :144 }