เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

พระศาสดาทรงทำให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วนให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้
พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายต่อมา ศาสดาของสาวกเหล่านั้น ปรินิพพานไป ศาสดาเห็น
ปานนี้แลปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร (สาวกเหล่านั้นคิดว่า) ‘เพราะศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น
แล้วในโลก และธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจาก
ทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
และพระศาสดาทรงทำให้เราทั้งหลายให้เข้าใจอรรถในพระสัทธรรม ทั้งทรงทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วน ให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว
ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่พวกเรา จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ต่อมาศาสดาปรินิพพานไป’ จุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แล ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำ
ให้สาวกทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง

เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

[172] 1. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้ไม่มั่นคง ไม่เป็นผู้มีประสบการณ์มาก ไม่เป็นผู้บวช
มานาน ไม่เป็นผู้มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ไม่เป็นผู้ล่วงกาลผ่านวัย
มามาก พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาเป็นผู้
มั่นคง1 มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย
ล่วงกาลผ่านวัยมามาก เมื่อนั้น พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วย
องค์นั้น อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 ผู้มั่นคง หมายถึงผู้ประกอบด้วยธรรมมีศีลขันธ์ เป็นต้นที่ทำให้มีความมั่นคง (ที.ปา.อ. 172/99, ที.ปา.
ฏีกา 172/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :131 }