เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร] นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

6. ปาสาทิกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความเลื่อมใส

[164] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในอัมพวันของพวกเจ้าศากยะ
นามว่า เวธัญญา แคว้นสักกะ

นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกเป็น 2 พวก
ต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “ท่านไม่รู้
ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัย ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ แต่คำพูดของ
ท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง
ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดคำพูดของท่าน
ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทางแก้คำพูดหรือ
เปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด” เห็นจะมีการฆ่ากันเท่านั้นที่จะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร แม้พวกสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาว
ห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยที่นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี
ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็น
ธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนักถูก
ทำลายแล้ว1 เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย2

เชิงอรรถ :
1 ที่พำนักถูกทำลายแล้ว หมายความว่านิครนถ์ นาฏบุตรเป็นที่พำนักของเหล่าสาวก เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว
เหล่าสาวกจึงหมดที่พึ่งพิง ธรรมของเขาก็เหมือนสูญสิ้นไปด้วย (ที.ปา.อ. 164/94)
2 ดูเทียบ ข้อ 301 หน้า 249 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :125 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [6. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

[165] ครั้งนั้น พระจุนทะ สมณุทเทส1 จำพรรษาอยู่ในกรุงปาวาได้เข้าไป
หาท่านพระอานนท์ซึ่งอยู่ในสามคาม2 กราบท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึง
แก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวก
นิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็น 2 พวก ฯลฯ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนัก
ถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย” เมื่อพระจุนทะ สมณุทเทสกล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า “คุณจุนทะ นี้เป็นข้ออ้าง3ที่จะเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคได้ มาเถิด คุณจุนทะ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค” พระจุนทะ สมณุทเทสรับคำแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ และพระจุนทะ สมณุทเทส ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่าน
พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระจุนทะ
สมณุทเทสนี้บอกว่า ‘นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน ฯลฯ เป็นธรรมวินัย
ที่มีที่พำนักถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย”

ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

[166] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัย
ที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไป
เพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ จุนทะ
ในโลกนี้ มีศาสดาผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศ

เชิงอรรถ :
1 พระจุนทะ สมณุทเทส หมายถึงพระเถระผู้นี้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร และเป็นสัทธิ-
วิหาริกของพระอานนท์ คำนี้พวกภิกษุเรียกท่าน ในขณะเป็นสามเณร เมื่อท่านเป็นพระแล้วก็ยังเรียกชื่อนี้อยู่
(ที.ปา.อ. 164/95)
2 สามคาม หมายถึงชื่อหมู่บ้านที่มีข้าวฟ่างมากมาย (ที.ปา.อ. 165/96, ที.ปา.ฏีกา 165/96)
3 เป็นข้ออ้าง ในที่นี้หมายถึงเป็นมูลเหตุแห่งการได้รับฟังธรรมกถาจากสำนักของพระผู้มีพระภาค (ที.ปา.
ฏีกา 165/105)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :126 }