เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น

3. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
4. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว)
บรรดาปฏิปทา 4 ประการนั้น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้
บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำทั้ง 2 ส่วน คือ เพราะปฏิบัติลำบาก และเพราะ
รู้ได้ช้า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะปฏิบัติลำบาก
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะรู้ได้ช้า
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติประณีต
ทั้ง 2 ส่วน คือ เพราะปฏิบัติสะดวก และเพราะรู้ได้เร็ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปฏิปทา

เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น

[153] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องมารยาทการพูดก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดวาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่พูดวาจาอันทำ
ความแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาอันส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันกล่าววาจาอันเกิดจาก
ความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญาชื่อว่ามันตา ตามกาลอันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทการพูด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
ในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษก็นับว่ายอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :113 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่พูดหลอกลวง1 ไม่พูด
ป้อยอ2 ไม่ทำนิมิต3 ไม่พูดบีบบังคับ4 ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ5 คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ทำพอเหมาะพอดี ประกอบความ
เพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดมี
ปฏิภาณดี มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญาเครื่อง
รักษาตน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษ

เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน

[154] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องวิธีสั่งสอนก็นับว่ายอดเยี่ยม วิธีสั่งสอน 4 ประการนี้ คือ
1. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระ
โสดาบัน เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไปไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า6’

เชิงอรรถ :
1 หลอกลวง หมายถึงลวงด้วยอาการ 3 คือ (1) พูดเลียบเคียง (2) แสร้งแสดงอิริยาบถ คือ ยืน เดิน
นั่ง นอน ให้น่าเลื่อมใส (3) แสร้งปฏิเสธปัจจัย (อภิ.วิ. (แปล) 35/861/553, องฺ.ปญฺจก.อ. 3/83/41,
วิสุทฺธิ. 1/16/24)
2 พูดป้อยอ หมายถึงพูดยกย่องมุ่งหวังลาภสักการะและชื่อเสียง (อภิ.วิ. (แปล) 35/862/553,องฺ.ปญฺจก.อ.
3/83/41, วิสุทฺธิ. 1/16/24)
3 ทำนิมิต หมายถึงแสดงอาการทางกาย ทางวาจา เพื่อให้คนอื่นให้ทาน เช่น การพูดเป็นเลศนัย พูดเลียบเคียง
(อภิ.วิ. (แปล) 35/863/553, อภิ.วิ.อ. 866/823, วิสุทฺธิ. 1/16/24)
4 พูดบีบบังคับ หมายถึงด่า พูดข่ม พูดนินทา ตำหนิโทษ พูดเหยียดหยาม และการนำเรื่องไปประจาน
ตลอดถึงการพูดสรรเสริญต่อหน้า นินทาลับหลัง (อภิ.วิ. (แปล) 35/864/554, อภิ.วิ.อ. 864/524,
วิสุทฺธิ. 1/16/24-25)
5 แสวงหาลาภด้วยลาภ หมายถึงได้อะไรเอามาฝากเขา ทำให้เขาเกรงใจ ต้องให้ตอบแทน (อภิ.วิ. (แปล) 35/
865/554, วิสุทฺธิ. 1/16/25)
6 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค 3 เบื้องสูง คือ (1) สกทาคามิมรรค (2) อนาคามิมรรค (3) อรหัตตมรรค
(ที.สี.อ. 373/281)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :114 }