เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ ซึ่งจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น
อย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจของเราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ด้วย
ใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ1ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอจึงกล่าวอาสภิวาจา
อย่างสูง ถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[143] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ

เชิงอรรถ :
1 เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือรู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจของเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส (ที.สี. (แปล) 9/242/80-81, 476/208-209, ที.ม. (แปล)
10/145/91)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อหรือ
ช่องกำแพง โดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่ทุกชนิด
เมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น แม้ฉันใด วิธีการ
อนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ 5 ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน 4 ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ 7
ตามความเป็นจริง จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ 5 ที่เป็นเครื่อง
เศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน 4 ทรงเจริญสัมโพช-
ฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ 5 ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอน
กำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน 4 ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ 7 ตามความ
เป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
[144] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ เพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก
ทั้งฝ่ายดำ1 ฝ่ายขาว2 และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบ3แก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงแสดง
ธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำฝ่ายขาว และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบด้วย
ประการใด ๆ ข้าพระองค์ก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรม
บางส่วนในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระองค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

เชิงอรรถ :
1 ฝ่ายดำ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) (ที.ปา.ฏีกา 144/78)
2 ฝ่ายขาว ในที่นี้หมายถึงโวทานธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้ผ่องแผ้ว) (ที.ปา.ฏีกา 144/78)
3 ที่มีส่วนเปรียบ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรมเป็นข้าศึกกับโวทานธรรมตามลำดับ โดยแสดงการเปรียบ
เทียบว่าสังกิเลสธรรมเป็นธรรมที่ควรละ ส่วนโวทานธรรมเป็นธรรมที่ละ (ที.ปา.ฏีกา 144/78)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :105 }