เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

2. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
3. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารี ทั้งใน
ที่แจ้งและในที่ลับ
4. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีการบริโภคโดยไม่แบ่งแยกลาภทั้งหลายอัน
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต
(อาหารในบาตร) บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล
5. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท1
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
6. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอริยทิฏฐิอันเป็นธรรมเครื่องนำออกเพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง 6 ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง 6 ประการนี้อยู่”

เชิงอรรถ :
1เป็นไท ในที่นี้หมายถึงไม่เป็นทาสของตัณหา (ที.ม.อ. 141/137)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

[142] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรม
โดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[143] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในกรุง
ราชคฤห์ รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
อัมพลัฏฐิกาวันกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงอัมพลัฏฐิกาวัน ประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้
สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีล
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[144] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพ-
ลัฏฐิกาวัน รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
เมืองนาฬันทากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงเมืองนาฬันทา ประทับอยู่ที่ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :89 }