เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[114] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย1
ต้องพร้อมด้วยอาการ2 เพศ3 นิมิต4 อุทเทส5 เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส
นั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ
กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย
อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี
การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ
ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง
[115] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ
จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ”

เชิงอรรถ :
1 นามกาย หมายถึงนามขันธ์ 4 คือ (1) เวทนาขันธ์ (2) สัญญาขันธ์ (3) สังขารขันธ์ (4) วิญญาณขันธ์
(ที.ม.อ. 114/99)
2 อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. 114/123)
3 เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา 114/123)
4 นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. 114/123)
5 อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ (ที.ม.ฏีกา.
114/123)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :65 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยจัก
ขาดความสืบต่อ นามรูปจักเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง
[116] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
วิญญาณจักไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัย
จะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล วิญญาณและนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตาม
ความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีแต่สื่อ
ความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วัฏฏะจึงเป็นไป ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏ
โดยการบัญญัติ1 คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัย
ของกันและกัน

เชิงอรรถ :
1ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ หมายถึงขันธ์ 5 เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้น (ที.ม.อ. 116/102)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :66 }